เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เวลา 16.30 น. นพ.วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) น่าน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่าน ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ คือ โรงพยาบาลน่าน มีน้ำท่วมซึ่งเป็นลักษณะน้ำผุดออกมาจากท่อ บริเวณถนนหน้าทางเข้าโรงพยาบาล แต่ตัวอาคารไม่ได้รับผลกระทบ สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต. ทั้งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวม 5 แห่ง ที่ท่าวังผาและอำเภอภูเพียง แต่คาดว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำที่ทุ่งช้าง เชียงกลาง และอำเภอปัว ลดลงแล้ว ทางเราจึงได้ส่งทีมมินิเมิร์สเข้าไปดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต มีเพียงรายงานผู้เจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ หกล้ม ผื่นคัน สัตว์กัดต่อย ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

เมื่อถามว่ามีการประเมินสถานการณ์น้ำจากนี้และวางแผนรับมืออย่างไรบ้าง นพ.วรินทร์เทพ กล่าวว่า ในส่วนของสาธารณสุขตอนนี้ระดับน้ำที่ท่าวังผาเริ่มลดลงแล้ว กำลังไหลเข้าอำเภอเมือง คาดว่าช่วงเย็นจะเป็นช่วงที่พีค ซึ่งอำเภอเมืองได้มีการสำรวจบ้านพักเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ มีการขนของที่จำเป็นเสี่ยงโดนน้ำท่วมขึ้นที่สูง และมีการหมุนเวียนอัตรากำลังจากหน่วยบริการ ในพื้นที่ต่างอำเภอเข้ามาให้การช่วยเหลือในการดูแลประชาชน มีการจัดเตรียมยาเวชภัณฑ์และชุดปฐมพยาบาล สำหรับการออกไปให้บริการประชาชนในพื้นที่รวมถึงทีมดูแลจิตเวชก็จะออกไปด้วยกัน

ส่วนพื้นที่อำเภอเวียงสา คาดว่าน้ำจะเพิ่มขึ้นในช่วงดึกๆ จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสถานพยาบาลอยู่เลย ขณะที่ รพ.สต.ไหล่น่าน ถูกน้ำท่วมจะมีการย้ายไปตั้งจุดให้บริการประชาชนในอีกพื้นที่หนึ่ง

เมื่อถามถึงความพร้อมทางด้านยาและเวชภัณฑ์ นพ.วรินทร์เทพ กล่าวว่า ยาและเวชภัณฑ์ตอนนี้ที่เราต้องใช้เยอะคือ ชุดผู้ประสบภัย กับยาป้องกันโรคฉี่หนู ซึ่งได้มีการประสานสั่งซื้อเพิ่มเติม รวมถึงได้ประสานยืมจากโรงพยาบาลในจังหวัดข้างเคียง ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และมาทันเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้แน่นอน นอกจากนี้ยังมีการเตรียมทีมแพทย์เคลื่อนที่เร็วเข้าไปดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่จำเป็นจะต้องได้รับยาต่อเนื่องแต่อาจจะมีปัญหายาหมด หรือยาหายไปกับน้ำท่วม เรามีระบบการติดต่อและนำยาไปจัดส่งให้กับผู้ป่วยที่ประสบภัย ในส่วนของจำนวนคนนั้นยังต้องรอสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่เบื้องต้นพื้นที่ 2 อำเภอ คือท่าวังผา กับ อำเภอปัว 7 พันกว่าหลังคาเรือน คิดว่าน่าจะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้พอสมควร

เมื่อถามถึงการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข การร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสั่งการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.วรินทร์เทพ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการสั่งการให้เตรียมรับสถานการณ์ สั่งให้มีการเปิดศูนย์ EOC ซึ่งเราก็ได้เปิดตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำ ซึ่งทางจังหวัดน่านได้มีการเฝ้าระดับความสูงของแม่น้ำอยู่แล้ว และมีการเตรียมพร้อมเกี่ยวกับอัตรากำลังเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งดำเนินการแล้ว.