เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลา 14.00 น. กรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับรายการสถานีประชาชน ThaiPBS จัดเสวนา “วิกฤตประชากร : เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  คุณชนม์ชยนันท์ พร้อมสมบัติ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเกิดวิกฤตด้านประชากรมีจำนวนเด็กเกิดน้อยลงทุกๆ ปี ซึ่งข้อมูลในปี 2565 หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 1 คนต่อสตรี 1 คน ซึ่งต่ำกว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากข้อมูลกรมการปกครองพบว่าปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 517,934 คน และคาดการณ์ว่าในปี 2585 ประชากรไทยจะลดเหลือจำนวน 60 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็ก 0-14 ปี จะมีสัดส่วนลดลงจาก 16.27% จากวิกฤตประชากรที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับความมั่นคงของไทย พม.เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงเดินหน้าแก้วิกฤติประชากรระดม ความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ร่วมกันออกแบบนโยบายและมาตรการพัฒนาครอบครัวไทย ที่จะส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จากการทำงานด้านนี้มา 30 ปี พบว่า เด็กเปราะบางมีสาเหตุมาจาก 1.ความยากจน หนี้สิน 2.ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ครอบครัวไม่พร้อม 3. ระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการวิถีชีวิต และยังพบเด็กมีปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิตจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ ด้วยไอแพด ทำให้ขาดการเล่นซุกซน กระทบกับพัฒนาการทางสายตา อารมณ์ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสิ่งแลดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดูแลเด็กให้มีคุณภาพ ยาเสพติดเข้าถึงง่ายทั้ง กัญชา บาบ้า บุฟรี่ไฟฟ้า ดังนั้นกลุ่มเปราะบางที่มีอยู่ 1.8 ล้านในปัจจุบัน ที่อยู่ท่ามกลางสภาพปัญหาเหล่านี้ ในขณะที่เด็กเกิดใหม่น้อย หากไม่มีชุดความคิด นโยบาย วิสัยทัศน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับประชากร สังคมไทยจะวิกฤตแต่เปลี่ยนจากวันนี้

ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐที่กำลังฟอร์มรัฐบาล มีผู้นำเป็นผู้หญิง ที่พูดถึงการให้โอกาส การลดความเหลื่อมล้ำ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ คิดว่าวิสัยทัศน์ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ หากให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ เด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางจะมีโอกาสมากขึ้น ระบบการศึกษาเป็นมาตรฐาน มีความยืดหยุ่น เป็นรูปแบบการประคับประคอง ให้เด็กจบการศึกษาภาคบังคับ ไปจนถึงประกาศนียบัตรชั้นสูง แล้วจะทำให้ความยากจนข้ามรุ่นถูกตัดทันที และควรส่งเสริมการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย การส่งเสริมอาหารสำหรับเด็ก รวมถึงสวัสดิการแบบมุ่งเป้า ตลอดจนมีมาตรการทางกฎหมายห้ามเด็กต่ำกว่าประถมศึกษาปีที่ 6 เล่นมือถือ หรือไอแพด นี่คือการปกป้องสิทธิเด็ก ไม่เช่นนั้นเราจะเริ่มเห็นตั้งแต่เด็กเกิดมา 1 ขวบถึง 5-6 ขวบ เล่นมือถือเวลาดึงออกก็จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีอันตรายจากตรงนี้แล้ว

นางอภิญญา กล่าวว่า ยอมรับว่าปัจจุบันเด็กเกิดน้อย ในขณะที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ จากปัญหาที่กล่าวมา ทำให้คนแต่งงานน้อย ถึงแต่งงานแล้วก็ไม่ยอมมีลูก ถ้ามีลุกก็มีน้อยอัตรา 1 ต่อ 1 เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อมีลูกแล้วลูกจะเป็นคนคุณภาพ  ทั้งยังกังวลเรื่องภาระค่าใช่จ่ายต่างๆ และในทางตรงข้ามกัน เด็กที่เกิดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ให้เป็นเด็กด้อยคุณภาพ อย่างก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพม.มีนโยบายแก้วิกฤตประชากร 5×5 ในข้อเสนอที่ 2 คือการเพิ่มคุณภาพและผลิตผลของเด็กเยาวชนด้วยการ ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง โรงเรียนเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ส่งเสริมสถานที่เลี้ยงดูกเด็กแรกเกิด ให้คุณแม่ยังสามารถทำงานต่อได้ ทั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้คนอยากมีลูกมากขึ้น การมีลูกไม่ได้เป็นภาระเสมอไป แต่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ

ศ.ดร.กนก กล่าวว่า ในปี 2567 เรามีเด็กอายุ 0-18 ปี 13.9 ล้านคน แต่ปี 2577 จะเหลือ 11.4 ล้านคน หรือหาย 2.5 ล้านคน แปลว่าลดลงปีละ 2.5 แสนคน ส่วนวัยทำงานอายุ 19-59 มี  41.9 ล้านคน ในปี 2577 จะเหลือ 38.8 ล้านคน หายไปปีละ 3 แสนคน และผู้สูงอายุปัจจุบันมี 15.7 ล้านคน และในปี 2577 จะมี 20.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้าน หรือ เพิ่มขึ้นปีละ 4-5 แสนคน ดังนั้นวิกฤตของเราคือ เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุเพิ่ม ภาระทางสังคมเพิ่ม คนทำงานจะต้องอุ้มเด็ก 0-14 ปี และต้องดูกลุ่มผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือเรียกว่าอัตราพึ่งพิงรวม ปัจจุบันอยู่ที่ 0.62 คน ต่อวัยทำงาน 1 คน แต่ปี 2577 จะอยู่ที่ 0.75 เพิ่มขึ้น 20% แปลว่าคนทำงานในอนาคตจะต้องมีความสามารถเพิ่มขึ้น มีการศึกษาเพิ่มขึ้น 20-25% เป็นอย่างต่ำถึงจะมี มาตรฐานคุณภาพชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

ดังนั้น 1. จะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดขึ้นน้อยในปัจจุบันนี้มีคุณภาพมากขึ้น 2.จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนกระทั่งเสียชีวิต มีกลไกรองรับผู้สูงอายุออกมาทำประโยชน์นอกบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดความเหี่ยวเฉาแต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้เตรียมมาตรการตรงนี้เอาไว้เลย 3. เรื่องคุณภาพคน หากคุณภาพไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาระที่ต้องแบกสูงขึ้น โจทก์ยากขึ้น วิกฤตนี้จะชักนำวิกฤตทั้งหมดเข้ามาทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม วิกฤตวัฒนธรรม วิกฤตทางการเมือง ต่อไปอาจจะมีม็อบคนแก่เดินมาประท้วงว่ารัฐบาลทำไมไม่จ่ายเงินแบบนี้หรือทำไมสวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไม่ดี ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีเงิน ซึ่งปัจจุบันงบสวัสดิการอยู่ที่ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี อีก 10 ปีข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร เพราะจะเพิ่มเป็น 5-6 แสนล้านบาท ดังนั้นคนวัยทำงานไม่ใช่แค่เดอะแบก แต่เป็นซุปเปอร์เดอะแบก ดังนั้นต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ จัดพื้นที่รองรับการดูแลผู้สูงอายุ และเด็กแรกเกิด สำหรับวัยทำงานเพื่อไม่ต้องกังวลในการดูแลคนเหล่านี้ที่บ้าน มีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นให้คนอยากมีลูก และเสริมสภาพแวดล้อมปลอดภัย สร้างระบบการออม    

ขณะที่ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะทำให้วัยแรงงานมีน้อย ต้องจ้างแรงงานต่างด้าว ก็มีปัญหาเข้ามาอีก ส่วนเด็กเกิดใหม่ที่มีน้อยอยู่แล้ว คุณภาพก็ไม่ดี คนที่รับภาระก็คือภาครัฐ ส่วนวัยเกษียณกลไกการให้การช่วยเหลือรองรับไว้แรงงานที่จะเกษียณอายุในอนาคตให้มีความสามารถทางการเงินในการดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิต อย่างไรก็ตาม จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐอย่างเดียวไม่ได้แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนรวมถึงสื่อมวลชน.