เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เขตพระนคร นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังหนังสือร้องเรียนถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เรื่อง กทม. ค้างชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณตลาดนัดจตุจักร โดยมี นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้รับหนังสือแทนผู้ว่าฯ กทม.


นายสราวุธ กล่าวว่า สร.รฟท. มีการติดตามทวงถามค่าใช้ประโยชน์ที่ดินของตลาดนัดจตุจักร ขนาด 68 ไร่ 1 งาน 88 ตร.ว. หลังจากที่มีมติ ครม. ให้ กทม. บริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัด 10 ปี จนถึงปี 71 โดย กทม. ต้องจ่ายค่าเช่าปีละ 169,423,250 บาท และให้มีการทบทวนค่าเช่าทุกๆ 3 ปี รวมถึงให้มีการลงนามสัญญาร่วมกัน แต่ว่า กทม. ยังไม่ลงนามสัญญา โดยมีการอ้างว่ายังไม่มีการพูดคุยรายละเอียดกัน 


แต่ รฟท.ได้หารือพูดคุยแล้ว พร้อมส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบเรียบร้อย เมื่อมีการส่งสัญญากลับมา กทม. ก็ยังไม่ลงนามในสัญญา รฟท. จึงยื่นฟ้องศาลแพ่ง ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ กทม. จ่ายค่าใช้ประโยชน์ที่ดินประมาณ 672 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 61 ถึง 27 มิ.ย. 65 และ กทม. ต้องจ่ายเงินในอัตราเดือนละประมาณ 14 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 จนกว่าจะมีการลงนามในสัญญา


จึงอยากให้ กทม. เร่งชำระค่าใช้ประโยชน์จากที่ดิน และถอนการอุทธรณ์ต่อศาลแพ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานของรัฐ พร้อมทั้งอยากให้มีการเจรจาภายในระหว่างกัน หรือตั้งคนกลางขึ้นมาเจรจา โดยมีตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย


นายสราวุธ กล่าวต่อไปว่า จากการชี้แจงของ กทม. มีเรื่องของสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ตอนนั้นไม่สามารถเปิดทำการค้าขายได้เต็มที่ ประเด็นนี้จะต้องมีการพูดคุยเจรจากัน แต่ว่าในปัจจุบันมีการเปิดค้าขายตามปกติแล้ว จึงอยากให้ กทม. จ่ายเงินค่าใช้ประโยชน์ที่ดินได้เลย หลังจากนี้จะให้เวลา กทม. เตรียมข้อมูลและชี้แจง ถ้าหากไม่มีความคืบหน้า สรฟ. จะยกระดับไปติดตามที่มติ ครม. รวมถึงเสนอปัญหาไปยังกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติม


ส่วนการจะนำที่ดินกลับมาให้ รฟท. บริหารจัดการนั้น นายสราวุธ ระบุว่า หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา จะเสนอให้ รฟท. นำที่ดินดังกล่าว มาบริหารจัดการเอง เพราะ รฟท. มีการตั้งบริษัทลูกในการบริหารทรัพย์สินอยู่แล้ว เมื่อ รฟท. รับรายได้เข้ามา ก็จะนำมาปรับปรุงการให้การบริการรถไฟได้ สุดท้ายผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชน.