เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 32 ปี รฟม. ว่า ตลอดการดำเนินงาน 32 ปีที่ผ่านมา รฟม. เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว 4 สายครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงหัวลำโพง-หลักสอง, สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่, สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 สาย ประกอบด้วย สายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม., สายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. และสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 22.5 กม.

นายวิทยา กล่าวต่อว่า การก่อสร้างสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย และสายสีม่วงใต้ งานเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบปัญหาใด คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน โดยสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย เปิดประมาณกลางปี 68 และสายสีม่วงใต้ เปิดบริการปี 71 ส่วนสายสีส้ม ตะวันตก เป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเป็นเส้นทางสู่ใจกลางเมือง ผ่านย่านอนุรักษ์ เกาะรัตนโกสินทร์ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการก่อสร้างสถานีร่วมกันระหว่างสายสีส้ม สายสีแดง และอาคารของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อส่งมอบให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานโครงการฯ

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ขณะที่ BEM ซึ่งมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ และเตรียมเข้าพื้นที่ โดยจะต้องส่งแผนงานให้กับ รฟม. ภายในเดือน ก.ย. 67 ทั้งนี้เบื้องต้น รฟม. คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เอกชนได้ก่อนภายในปี 67 เพื่อจะเริ่มงานย้ายสาธารณูปโภค และเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 68 (ม.ค.-มี.ค. 68) โดย รฟม. จะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ครบ 100% ได้ภายใน 2 ปี  ส่วนเรื่องงานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ขณะนี้เอกชนอยู่ระหว่างออกแบบ และเตรียมจัดหาขบวนรถ พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ รฟม. ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ซึ่งปัจจุบันงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% โดยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน โดย BEM จะเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายดังกล่าวตั้งแต่เดือน เม.ย. 69 ทั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่ รฟม. ที่ต้องจ่ายทุกเดือนนั้น ยังอยู่ภายใต้งบประมาณของโครงการฯ   

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนงานหลังจากนี้ รฟม. มีแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.10 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงรายงานผลการศึกษา เนื่องจากต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และพร้อมเสนอการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ชุดใหม่นัดแรกทันที 

เบื้องต้นมีเป้าหมายเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลในปี 68 เริ่มก่อสร้างปี 69 เปิดบริการปี 72 นอกจากนี้จะเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท, เชียงใหม่ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท, นครราชสีมา วงเงิน 7 พันล้านบาท และพิษณุโลก วงเงิน 4-5 พันล้านบาท โดยเตรียมเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ตั้งเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดทั้ง 4 สายได้ในปี 71 และจะดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม).