เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยหลังลงพื้นที่สำรวจติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนยานนาวา และถนนสาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา ว่า เนื่องจากมีประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้สัญจรบนทางเท้าที่กำลังปรับปรุง ในโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนยานนาวา และถนนสาธุประดิษฐ์ โดยดำเนินการปรับปรุงทางเท้าถนนยานนาวา มีความยาว 1.6 กม. เริ่มจากถนนพระราม 3 ไปจนถึงแยกสาธุประดิษฐ์ ขณะนี้เริ่มปูกระเบื้องทางเท้าแล้วตั้งแต่ถนนพระราม 3 ถึงใต้สะพานภูมิพล ด้านการปรับปรุงทางเท้าถนนสาธุประดิษฐ์ เริ่มจากแยกสาธุประดิษฐ์ ย้อนกลับมาถนนพระราม 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 67

โดยกำชับเรื่องการปรับปรุงทางเท้า ต้องทำให้เดินได้เดินดีและเป็น Universal Design ผู้พิการและวีลแชร์ต้องใช้ได้ พื้นต้องเรียบไร้รอยต่อ บางจุดที่มีรูปแบบพื้นที่ไม่เป็นไปตามแผน ต้องคิดใหม่ทำใหม่ไม่จำเป็นต้องยึดกรอบเดิม บางจุดต้องประสานความร่วมมือกับกรมทางหลวงในการดำเนินงาน บางช่วงของทางเท้าปลูกต้นหูกระจงที่ไม่ห่างจากตัวบ้าน ซึ่งรากได้ชอนไชทำให้กระเบื้องเสียหายกว่าร้อยละ 70 จึงได้รื้อปูใหม่ทั้งหมด และเตรียมลงพอรัสแอสฟัลต์รอบโคนต้นพร้อมปรึกษารุกขกรในการดูแลไม้ยืนต้นริมถนนยานนาวา

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า แนวคิดในการออกแบบถนนและทางเท้า สามารถใช้การเปรียบความแตกต่างของคำคือ Street กับ Road ได้ โดย Street เป็นถนนที่ออกแบบสำหรับเมือง รถที่วิ่งไม่ใช้ความเร็วสูงและอำนวยความสะดวกให้กับคนเดินเท้าเป็นหลัก ส่วน Road เป็นถนนที่ใช้สัญจรแบบผ่านเลย มีจุดตัดและทางข้ามไม่มากนัก ให้ความสำคัญกับรถบนถนนเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่บ้านเราใช้สองแบบปนกัน ขอเรียกว่า Street + Road รวมเป็น Stroad ทำให้เกิดปัญหาและอุบัติเหตุ แต่การปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องค่อย ๆ ทำให้ชัดเจน ขยับมาตรฐานการออกแบบใหม่ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกรุงเทพฯ เดินได้ เดินดี.