สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งปะทุเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 มีแนวโน้มยืดเยื้ออีกนาน และยังไม่มีความชัดเจนว่า จะคลี่คลายไปในทางทิศทางใด เนื่องจากทิศทางการสู้รบแนวหน้าที่พลิกผันอยู่เป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เคยกล่าวถึงกรณีความสัมพันธ์กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ว่าหากไม่มีโอกาสได้เข้าเป็นสมาชิก “เนื่องจากรัสเซียต้องการเช่นนั้น” รัฐบาลเคียฟอาจต้องอยู่ในสถานะ “เป็นกลางทางทหาร” ตามความประสงค์ของรัสเซีย

ภาพถ่ายมุมสูงโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เผยให้เห็นการใช้โดรนโจมตียานรบหุ้มเกราะของยูเครน ที่ภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งรุกล้ำเข้ามาปฏิบัติการ ในภูมิภาคเคิร์สก์ ทางตะวันตกของรัสเซีย

การมีสถานะเป็นกลางทางทหาร หรือ รัฐที่เป็นกลาง ตามที่ระบุอยู่ในอนุสัญญาเฮก ฉบับปี 2442 และ 2450 คือการดำเนินนโยบายที่ไม่เข้าไปร่วมวงเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใด และไม่เป็นสมาชิกพันธมิตรทางทหารระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การวางตัวเป็นกลางทางทหารเป็นแนวทางที่สามารถใช้คลี่คลายความขัดแย้งมาได้แล้วหลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในตัวอย่างสำคัญ คือการที่สวิตเซอร์แลนด์ประกาศสถานะเป็นกลาง เมื่อปี 2358 เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างออสเตรียกับฝรั่งเศส เบลเยียมและลักเซมเบิร์กประกาศตัวเป็นกลาง เพื่อบรรเทาความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี

ด้านการเป็นเอกราชของออสเตรีย เมื่อปี 2498 เป็นไปตามการลงนามระหว่างสหภาพโซเวียต สหรัฐ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ออสเตรียต้องไม่เป็นสมาชิกนาโต ซึ่งสหภาพโซเวียตถือว่า “เป็นภัยคุกคาม”

ในส่วนนโยบายต่างประเทศของยูเครนนั้น มีการถกเถียงเรื่องความเป็นกลางมาตลอด ย้อนกลับไปเมื่อปี 2533 ซึ่งยูเครนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต สภาแห่งชาติในกรุงเคียฟผ่านมติ ว่าด้วย “การประกาศอธิปไตย” ที่มีสาระสำคัญว่า หากยูเครนเป็นรัฐเอกราชในสักวันหนึ่ง จะวางบทบาท “เป็นกลางอย่างถาวร”

ชาวรัสเซียจากภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยชั่วคราว ที่ศูนย์พักพิงในกรุงมอสโก รับของแจกจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แน่นอนว่ายูเครนเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเอกราช และมีสถานะเป็นหนึ่งในรัฐแห่งใหม่บนโลก รัฐบาลเคียฟประกาศ “เสาหลักของนโยบายต่างประเทศ” ซึ่งระบุชัดเจนเกี่ยวกับ “สถานะเป็นกลาง ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด”

รัฐบาลเคียฟร่วมลงนามใน “คำประกาศบูดาเปสต์” เพื่อนำไปสู่การเป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ( เอ็นพีที ) ที่กรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2537 ร่วมกับเบลารุส คาซัคสถาน รัสเซีย สหรัฐ และสหราชอาณาจักร

ยูเครน เบลารุส และคาซัคสถาน มอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธทั้งหมดที่มีอยู่ ให้รัสเซียนำไปทำลาย เพื่อแลกกับหลักประกันทางเศรษฐกิจและความมั่นคง อย่างไรก็ตาม การรักษาสถานะความเป็นกลางของยูเครน “เริ่มเปลี่ยนแปลง” นับตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยุชเชนโก เมื่อปี 2548 และกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ปะทุในที่สุด เมื่อปี 2557 และสร้างแรงกระเพื่อมมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกดังที่ทุกฝ่ายทราบกัน ประกอบไปด้วยสมาชิก 193 ประเทศ และสถานะผู้สังเกตการณ์สำหรับ วาติกัน และปาเลสไตน์

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคง ทั้งทหารและพลเรือน เกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ ทางตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน ที่ทวีความรุนแรงจากปฏิบัติการบุกข้ามพรมแดนของยูเครน

อย่างไรก็ดี ในเวลาเดียวกัน ยังมีการรวมกลุ่มระหว่าง 120 ประเทศ ซึ่งไม่ร่วมเป็นทั้งพันธมิตร หรือต่อต้านกับขั้วอำนาจฝ่ายใดอย่างชัดเจน ในนาม การเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ( Non-Aligned Movement ) หรือ “เอ็นเอเอ็ม” ถือเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลขนาดใหญ่อันดับสอง รองจากยูเอ็น และไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของเอ็นเอเอ็มเช่นกัน ส่วนยูเครนยังคงมีสถานะผู้สังเกตการณ์

ในกรณีที่ทางออกของยูเครนต้องมาหยุดที่ สถานะเป็นกลาง แต่ชัดเจนว่า คราวนี้รัสเซียต้องการข้อกำหนดที่มากกว่าสนธิสัญญาสถาปนาความเป็นรัฐให้กับออสเตรีย และเงื่อนไขผูกมัด ที่แตกต่างจากสนธิสัญญาระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ เมื่อปี 2491 ซึ่งมีการระบุว่า ภาคีของสัญญาสามารถขอยกเลิกกรอบความร่วมมือได้ เมื่อพ้นรอบเวลาทุก 5 ปี โดยต้องแจ้งล่วงหน้าให้อีกฝ่ายทราบอย่างน้อย 1 ปี

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เปิดตัวเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ที่ได้รับมอบจากพันธมิตรตะวันตก ณ สถานที่แห่งหนึ่งในยูเครน

ท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ “ความเป็นกลาง” อาจเป็นทางออกดีที่สุด เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และรักษาสมดุลของกลไกการทูตระหว่างประเทศ ให้ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นสงครามที่คู่กรณีมีมากกว่าสองประเทศดังกล่าว แต่มี “ผู้มีส่วนใดส่วนเสีย” และ “ผู้มีส่วนร่วม” อีกมากหมายหลายประเทศ ทั้งที่แสดงตัวอย่างเปิดเผย และขอหลบอยู่หลังฉาก นั้นหมายความว่า ไม่ว่าสงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อ ผ่อนคลาย หรือยุติในรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับว่า ทั้ง “ฝ่ายที่ได้เปรียบมากกว่า” และ “ฝ่ายที่ต้องตกเป็นรอง” จะยอมรับแนวทางได้หรือไม่เท่านั้นเอง.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP