ทั้งนี้นิโคตินและสารพิษอื่น ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้าและส่งผลต่อพัฒนาการของสมองในวัยรุ่น และส่งต่อการทำงานของสมองที่สำคัญทั้งในด้านการคิด การจดจำ และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ต่อไป

นอกจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสมองแล้ว วัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอันจะส่งผลต่อการเรียนเช่น การโดดเรียน หนีเรียน มาเรียนสาย ขาดการติดตามงาน ส่งงาน ซึ่งปัญหาพฤติกรรมดังกล่าวนี้อาจทำให้วัยรุ่นต้องถูกพักการเรียนหรือลงโทษทางวินัยต่าง ๆ ถูกเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและบุคลากรในโรงเรียนมองในทางลบ อาจเริ่มปลีกตัวออกห่างจากกลุ่มเพื่อนที่ตั้งใจในการเรียนและไปคบกับกลุ่มเพื่อนที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือรวมถึงสารเสพติดอื่น ๆ ทั้งที่เป็นเพื่อนในโรงเรียนและนอกโรงเรียน และอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ นอกเหนือจากบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในทางกลับกันผู้ที่มีปัญหาการเรียนอยู่เดิมก็อาจนำไปสู่การเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเกิดเป็นวงจรของปัญหาพฤติกรรมและการเรียนต่อไปได้เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสที่จะไม่สามารถเรียนต่อในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ถูกให้ออกจากการเรียน และส่งผลต่ออนาคตในการทำงานของวัยรุ่นต่อไป นอกจากนี้ความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญยังอาจส่งผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา

แม้ว่าปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกับการเรียนและพฤติกรรมในการเรียนของวัยรุ่น แต่สาเหตุที่วัยรุ่นใช้บุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดนั้นมักเกิดจากหลายปัจจัย และการใช้กฎโรงเรียนหรือกฎหมายต่าง ๆ ที่ผลักให้วัยรุ่นต้องออกจากระบบการศึกษาอาจไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและเป็นการผลักปัญหานั้นไปสู่สังคมต่อไป ทุกภาคส่วนทั้งสถาบันครอบครัว โรงเรียน และสังคมจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือสารเสพติด โดยเฉพาะโรงเรียนและบุคคลากรทางการศึกษาควรมีความรู้ความเข้าใจในปัญหาการใช้บุหรี่หรือสารเสพติดในวัยรุ่น พยายามเข้าถึงและพูดคุยเพื่อพยายามเข้าใจปัญหาเป็นรายบุคคลเพราะวัยรุ่นที่ใช้มักเผชิญปัญหามาแตกต่างกัน มีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ การมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะช่วยเปิดประตูให้วัยรุ่นที่มีปัญหาเข้ามาพูดคุย และให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเบื้องต้นรวมถึงการแนะนำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การช่วยเหลือวัยรุ่นต่อไป

เอกสารอ้างอิง

                1. Wichaidit W, Chotipanvithayakul R, Assanangkornchai S. Use of Electronic Cigarettes among Secondary School Students and their Association with Depressive Symptoms: Findings from a National Secondary School Survey in Thailand. Journal of Health Science and Medical Research. 2023.

                2. Tobore TO. On the potential harmful effects of E-Cigarettes (EC) on the developing brain: The relationship between vaping-induced oxidative stress and adolescent/young adults social maladjustment. J Adolesc. 2019;76:202-9.

                3. McCabe SE, West BT, Veliz P, Boyd CJ. E-cigarette Use, Cigarette Smoking, Dual Use, and Problem Behaviors Among U.S. Adolescents: Results From a National Survey. J Adolesc Health. 2017;61(2):155-62.

ข้อมูลจาก ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่