สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่น (เจเอ็มเอ) ออกประกาศเตือนครั้งแรกภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ที่ร่างขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง 9.0 แมกนิจูด เมื่อปี 2554 ที่ตามด้วยสึนามิขนาดยักษ์ และภัยพิบัตินิวเคลียร์เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 18,500 ราย

“คำแนะนำแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” ของเจเอ็มเอ ระบุว่า หากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอนาคต แรงสั่นสะเทือนจะรุนแรง และเกิดสึนามิขนาดยักษ์ตามมา ซึ่งความเป็นไปได้ของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากครั้งใหม่ อยู่ในระดับ “สูงกว่าปกติ” แต่มันไม่ได้บ่งชี้ว่า เหตุแผ่นดินไหวข้างต้นจะกิดขึ้นอย่างแน่นอน “ในช่วงเวลาหนึ่ง”

อนึ่ง คำแนะนำของเจเอ็มเอ มีความเกี่ยวข้องกับ “เขตมุดตัว” ของรอยเลื่อนนันไค หรือ นันไก ซึ่งมักเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 8-9 แมกนิจูด ในทุก ๆ หนึ่งหรือสองศตวรรษ โดยรอยเลื่อนใต้ทะเลแห่งนี้มีความยาวประมาณ 800 กิโลเมตร ทอดยาวตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของญี่ปุ่น ตั้งแต่จังหวัดชิซุโอกะ ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ไปจนถึงปลายสุดของเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโตเกียวระบุว่า ญี่ปุ่นมีโอกาสประมาณ 70% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 แมกนิจูด บริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแนวรอยเลื่อนนันไค ในอีก 30 ปีข้างหน้า

ด้านผู้สันทัดกรณีคาดการณ์ว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด อาจมีผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000 ราย ขณะที่วิศวกรบางคนประมาณการว่า โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะถูกทำลาย และความเสียหายอาจสูงถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 459 ล้านล้านบาท)

“ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินใหญ่ครั้งใหญ่ที่รอยเลื่อนนันไค น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแม้เราจะไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหวได้ แต่การเกิดแผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง มักจะเพิ่มโอกาสเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณรอยเลื่อนนันไคในอนาคต จะเป็นแผ่นดินไหวที่รอคอยมานานที่สุดในประวัติศาสตร์ และตรงตามคำจำกัดความของ ‘แผ่นดินไหวครั้งใหญ่’ อย่างแน่นอน” นายไคล์ แบรดลีย์ และนางจูดิธ เอ ฮับบาร์ด นักธรณีวิทยา เขียนในจดหมายข่าว “Earthquake Insights” ของพวกเขา

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแผ่นดินไหว ให้ดำเนินการป้องกันล่วงหน้า ตั้งแต่การจัดเก็บเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการทราบตำแหน่งของศูนย์อพยพที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกัน หลายครัวเรือนในประเทศก็เตรียมชุดสิ่งของรับมือภัยพิบัติไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่มบรรจุขวด, อาหารที่เก็บรักษาได้นาน, ไฟฉาย, วิทยุ และสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ

รัฐบาลกลางในกรุงโตเกียวขอให้ประชาชน “ตื่นตัว” แต่อย่าวิตกกังวลจนกลายเป็นความตื่นตระหนก และขอให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามปกติ เนื่องจากแผ่นดินไหวรุนแรง 7.1 แมกนิจูด ที่ภูมิภาคคิวชู ต้นเดือนนี้ “มีความน่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย” ที่มันจะเป็นแผ่นดินไหวนำ หรือ “ฟอร์ช็อก” ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

“ความท้าทายประการหนึ่งคือ แม้ความเสี่ยงของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สองจะสูงขึ้น แต่มันยังคงอยู่ในระดับต่ำเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น หลักทั่วไปของการเกิดแผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ คือ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มีโอกาสเป็นแผ่นดินไหวนำประมาณ 5%” แบรดลีย์ และฮับบาร์ด กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP