นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้าได้สำรวจ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซในประเทศไทย พบว่า ในปี 63 อีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่า 3.78 ล้านล้านบาท ลดลง 6.6 % จากปี 62 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สร้างผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมการขนส่ง และจองตั๋วโดยสารออนไลน์ และอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก

โดยเมื่อแบ่งสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซ พบว่า รูปแบบ ธุรกิจกับผู้บริโภค (บีทูซี) มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท  และธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี) มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และธุรกิจกับภาครัฐ(บีทูจี) มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 64 นี้คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นภายหลังจากการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยมีมูลค่า 4.01 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.1 % และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมปี 60-64 อยู่ที่ 9.7%

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า เมื่อดูเป็นรายอุตสาหกรรม มูลค่าอีคอมเมิร์ซ ปี 63 ใน 3 อันดับแรก พบว่าการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,434,663.54 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 47.7% การให้บริการที่พัก มูลค่า 463,784.88 ล้านบาท คิดเป็น สัดส่วน15.4% และอุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 460,220.36 ล้านบาท สัดส่วน15.3% ส่วนในปี 64 นี้ คาดการณ์ว่า การค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,628,488.05 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 52.1% อุตสาหกรรมข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร มีมูลค่า 477,293.12 ล้านบาท  สัดส่วน 15.2% และ อุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 476,328.08 ล้านบาท สัดส่วน 15.2%

“ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย ในอุตฯการให้บริการที่พัก และการขนส่งและการผลิตได้รับผลกระทบจาก โควิดในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มีแนวโน้มจะเริ่มฟื้นตัวได้ ส่วนในอุตฯอื่นๆมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การค้าปลีกและการค้าส่ง ที่เติบโต 8.7% และการประกันภัย เติบโตสูงถึง 250% ซึ่งคาดว่าในปีหน้า จะโตต่อเนื่อง จากปัจจัยที่คนไทยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มีชีวิตติดกับดิจิทัลมากขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ และเอสเอ็มอี หันมาขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ความนิยมของแพลตฟอร์มเดลิเวอรรี่สั่งอาหาร ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีกลยุทธ์การ ส่งเสริมการขายสินค้าตลอดปี รวมถึง การขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า แบบครบวงจร” นายชัยชนะ กล่าว

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญใน 5 ประเด็น ได้แก่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชีวิตติดกับดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตตามไปด้วย การเติบโตของแพลตฟอร์มบริการยานพาหนะผ่านทางแอพพลิเคชั่น (Ride-Hailing )โดยเฉพาะการส่งอาหารและการสินค้าอุปโภคบริโภค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น กลยุทธ์การส่งเสริมการขายสินค้าแพลตฟอร์มอี มาร์เก็ตเพรส และการขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า แบบครบวงจร

ทั้งนี้ เอ็ตด้าได้ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 900,626 ราย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จัดแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม และใช้เกณฑ์ผลประกอบการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี (SMEs) ใช้การสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี (Enterprises) ใช้การสัมภาษณ์ ผลสำรวจครอบคลุมธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมด 8 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการประกันภัย อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและ นันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน–มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาเป็นมาเลเซีย 46.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย 17.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 10.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิงคโปร์ 2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2563 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท (57.39%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 0.84 ล้านล้านบาท (22.14%) และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท (20.47%) สาเหตุที่ยอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่ม B2B ลดลงเป็นอย่างมากในปีนี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการปรับตัวโดยขายสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง (Direct to Customer) และคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2564 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.03 ล้านล้านบาท (50.59%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 1.09 ล้านล้านบาท (27.24%) และ B2G มีมูลค่า 0.89 ล้านล้านบาท (22.17%)