“ชอบระบบเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้โตมาจึงฝันอยากจะเป็นวิศวกร แต่พอเห็นว่า…อาชีพแพทย์ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะร่างกายก็คือเรื่องของระบบที่นำเรื่องของวิทยาศาสตร์มาผนวก ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นโลกที่น่าสนใจ จึงเลือกสอบเข้าหมอคู่กับส่งใบสมัครสอบเข้าคณะวิศวะ” เป็นเรื่องราวในวันต้องตัดสินใจเลือกสาขาที่จะศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ทาง “ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” เล่าให้ฟังถึง “จุดเปลี่ยนชีวิต” จนได้เข้าสู่ “เส้นทางคุณหมอ” ทั้งที่ในวัยเด็กนั้น “ฝันอยากเป็นวิศวกร” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับคุณหมอท่านนี้…

ท่ามกลางภารกิจที่รัดตัวหลังจากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล” ทาง ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา หรือที่เราเรียกติดปากว่า “อาจารย์ปิยะมิตร” เปิดห้องรับรองบนฐานบัญชาการใหญ่บนตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้เราได้นั่งพูดคุยแบบเจาะลึกทุกแง่มุม ทั้งมุมชีวิต ทั้งแนวคิดการทำงาน รวมไปถึงความฝันในฐานะหัวเรือใหญ่ของมหิดลในวันนี้ ที่อาจารย์ย้ำว่า เป็นยุคที่ต้องทำงานภายใต้ความท้าทายใหม่ ๆ มากมายหลากหลายด้าน โดยอาจารย์เล่าถึง “ภารกิจใหญ่ 100 วัน” ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นหลังเข้ารับตำแหน่งพร้อมกับคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชุดใหม่ว่า ภายใต้ยุคของอาจารย์นั้น มหิดลจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าภายใต้ “กลยุทธ์ MU Synergy” ที่มุ่งเน้นต่อยอดความสำเร็จทางการศึกษาและวิจัยที่ทำให้เกิด “Real World Impact” ในระดับโลก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic well-being) และต้องการที่จะทำให้เกิด “Academic Impact” ของมหาวิทยาลัยในอนาคต เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และในระดับโลก

“มหิดลมีจุดแข็งสำคัญคือ ความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนในสหสาขาวิชา เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญแค่สุขภาพและการแพทย์ แต่ศิลปะกับดนตรี หรือสังคมศาสตร์ ก็มีผู้เชี่ยวชาญครบถ้วน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือสร้างกลไกการเชื่อมโยงและกำหนดทิศทาง กับสร้างกลไกที่จะทำให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกันให้ได้มากที่สุด”

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน และบุคลากร

อาจารย์ปิยะมิตรฉายภาพให้เห็นถึงหางเสือที่จะนำพาเรือลำใหญ่อย่างมหิดลโลดแล่นท่ามกลางกระแสคลื่นโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย อาทิ Aging Society, Digital Disruption, Geopolitics, Climate Change เป็นต้น โดยจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่านแนวคิดในการผลักดันให้มหิดลเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิจัย การศึกษา และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ 3A” คือ “A1” Synergistic and Collaborative Innovations สานภารกิจวิจัย “A2” Empowering Learners เพิ่มอำนาจผู้เรียน และ “A3” Amplifying Operations ขยายผลสัมฤทธิ์

อย่างไรก็ดี ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องนี้กันต่อ “ทีมวิถีชีวิต” อยากจะพาไปทำความรู้จักกับ “รักษาการอธิการบดี” ท่านนี้กันก่อน โดยปัจจุบันอาจารย์ปิยะมิตรอายุ 65 ปี และสำหรับ “ชีวิตครอบครัว” นั้น อาจารย์ปิยะมิตร สมรสกับ รศ.พญ.ชนิกา ศรีธรา ซึ่งเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีลูกสาว 4 คน คือ ศศิน, ลลิต, วิวิธ, กนิก ทั้งนี้ ก่อนที่อาจารย์ปิยะมิตรจะรับตำแหน่งรักษาการอธิการบดีนั้น อาจารย์เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วมากมาย อาทิ ประธานบอร์ดศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), ประธานบอร์ดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC), กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข, ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม และใน “บทบาทการเป็นนักวิจัย” นั้น อาจารย์ยังเคยได้รับ รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส ประจำปี 2551 อีกด้วย โดยผลงานวิจัยที่โดดเด่นและอาจารย์รู้สึกภูมิใจมาก เพราะต่อยอดจากงานวิจัยที่ทำมาหลายปี นั่นก็คือ แบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนไทย (Thai CV Risk Score) ที่ปัจจุบันก็ยังใช้งานอยู่

กับภรรยา สมัยได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ

สำหรับ “เส้นทางชีวิต” จากที่มุ่งวิศวะ แต่กลายมาเป็นหมอนั้น อาจารย์เล่าว่า ตั้งแต่เด็กไม่เคยคิดเรียนแพทย์ เพราะชอบเรียนวิทยาศาสตร์ กับพวกอิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์มากกว่า แต่พอรู้ว่าการเรียนหมอก็มิกซ์ความเป็นหมอและนักวิทยาศาสตร์ได้ ก็เลยสนใจ แต่กระนั้น ตอนเลือกคณะเข้าเรียนต่อหลังจบ ม.ปลาย อาจารย์ก็เลือกแพทย์แค่อันดับ 1 ส่วนที่เหลือได้เลือกวิศวะทั้งหมด ซึ่งผลปรากฏว่าอาจารย์สอบติดแพทย์อันดับแรกก็เลยได้เรียนหมอ ซึ่งหลังเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ โรงพยาบาลเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี อยู่ 2 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานในฐานะแพทย์ตามลำดับ คือ เป็นแพทย์ประจำบ้าน ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, เป็นอาจารย์ประจำหน่วยโรคหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนได้ทุน British Council ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ สาขาโรคหัวใจ และช่วงที่ไปอังกฤษ อาจารย์ยังเป็นแพทย์โรคหัวใจประจำโรงพยาบาล Hammersmith จนเมื่อกลับไทย ก็ได้รับตำแหน่งวิชาการ คือ ผศ., รศ. และ ศ. ประจำหน่วยโรคหัวใจตามลำดับ ขณะที่ “งานบริหาร” นั้น อาจารย์บอกว่าเริ่มจากตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ ในเวลาต่อมาที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แก่ ผอ.ศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม, หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์, หัวหน้าคลัสเตอร์วิจัยหัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม และเป็นประธานวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เป็นกรรมการสอบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจของแพทยสภาฯ …นี่เป็นเส้นทางชีวิตโดยสังเขปของอาจารย์

ส่วนเรื่องราวที่น่าสนใจระหว่างทางที่ถือว่าเป็น “แรงบันดาลใจที่สำคัญ” ทำให้อยากเป็นหมอมากขึ้น นั่นก็คือ ชีวิตช่วงเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลเกาะสมุย ประมาณปี 2526-2528 โดยอาจารย์บอกว่า แม้ไปอยู่แค่ 2 ปี แต่ผูกพันมาก เพราะเป็นที่แรกที่ออกไปทํางาน แม้จะไม่ได้กลับไปทำงานที่สมุยอีก แต่ก็ยังคบหาสมาคม ยังมีติดต่อหากันเป็นระยะ ๆ เพราะคนที่คบหากันนั้นเปลี่ยนจากคนไข้กลายมาเป็นเพื่อน จากเพื่อนกลายเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกันมาจนถึงวันนี้ ทั้งนี้ อาจารย์ได้ฉายภาพการทำงานที่เกาะสมุยในตอนนั้นให้เราฟังว่า เกาะสมุยเมื่อ 41 ปีที่แล้ว ไม่เหมือนวันนี้ ตอนนั้นสนามบินยังไม่มี การเดินทางจากกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถไฟไปลงที่ อ.พุนพิน จากนั้นนั่งรถเมล์แดงไปต่อเรือที่บ้านดอน โดยเรือจะออกตอน 3 ทุ่ม ก็นอนบนเรือไปจนถึงเช้าราว ๆ ตี 5 ก็ถึงเกาะ และยุคนั้นโรงแรมยังไม่มี มีแต่บังกะโลให้เช่าหลังเล็ก ๆ นักท่องเที่ยวก็ยังไม่เยอะ มีแต่ฝรั่งพวกแบกแพ็คที่มาเที่ยว เรียกว่าเป็นสมุยที่เงียบสงบมากในเวลานั้น

ภาพครอบครัว กับภรรยา และลูกสาว

“ผมอยู่แค่ 2 ปี แต่รู้สึกดีกับที่นี่มาก อย่างแรกติดทะเล ทำให้ได้ว่ายน้ำ ดำน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมโปรดของผมได้ตลอด แถมชาวบ้านก็น่ารัก แม้จะเสียงดัง แต่จริงใจ และตอนอยู่ที่นั่น นอกจากดำน้ำ ว่ายน้ำ พายเรือ ผมยังซื้อม้าไว้ 1 ตัว เอาไว้ขี่เล่น ๆ รอบเกาะ เพราะตอนนั้นถนนรอบเกาะยังไม่มี ส่วนการทำงานเป็นหมอที่สมุย ก็สนุก เพราะได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำหลายอย่าง เนื่องจากทั้งโรงพยาบาลมีหมอแค่ 4 คน ฉะนั้นก็ต้องทำทุกอย่าง แม้แต่ผ่าตัดบางครั้ง เวลามีเคสฉุกเฉิน เพราะการส่งตัวไปฝั่งไม่ง่าย ด้วยข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้อะไรที่ทำได้ก็ต้องทำ และการมีคนน้อย ทำให้หมอเด็ก ๆ อย่างผมสนิทกับหมออาวุโสง่ายขึ้น เพราะมีกันเท่านี้” อาจารย์ปิยะมิตรเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ย้อนกลับมาที่ “ภารกิจใหม่” ที่เป็น “ภารกิจใหญ่” ในฐานะผู้นำองค์กรการศึกษาอย่างมหิดลนั้น ทางอาจารย์ปิยะมิตร ได้ฉายภาพเรื่องนี้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงทุกวันอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโจทย์ว่าเราจะทำยังไงกับความท้าทายนี้ โดยถ้าพูดถึงการเรียนการสอน ก็ต้องบอกว่าโลกวันนี้มีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งไม่เหมือนกับรูปแบบงานในอดีต ฉะนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่มีในอดีต บางทีก็ไม่รองรับสังคมยุคใหม่แล้ว อีกทั้งพฤติกรรมกับความต้องการผู้เรียนก็ต่างไปจากเดิม ทำให้มหาวิทยาลัยต้อง “ทลายกำแพง-ขจัดเส้นแบ่ง” บางอย่างให้ได้ เช่น พัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมีศาสตร์ใหญ่ ๆ อยู่ 3 ส่วน คือ ส่วน วิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนที่สอง เทคโนโลยีสุขภาพ และส่วนที่สาม สังคมศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้เกิดเป็นคณะและส่วนงานต่าง ๆ อีกรวม 37 ส่วน ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายคือ จะทำยังไงให้เกิดความสัมพันธ์กัน และ ตอบโจทย์ความต้องการที่เกิดขึ้น เพราะยุคนี้จะมีการข้ามศาสตร์เยอะ เช่น แพทย์อาจจะอยากเรียนรู้เรื่องการบริหาร หรือวิศวกรรมก็สามารถมาเรียนได้ ส่วนอีกสิ่งที่อาจเรียกว่า “เป็นความฝัน” ของอาจารย์ปิยะมิตรอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ ออกแบบการเรียนให้ตอบสนองการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ที่แตกต่างจากในอดีต

กิจกรรมดำน้ำที่ชื่นชอบ

“สมัยก่อนเรามักจะเน้นการเรียนยาว ๆ คือจบตรี ก็ต่อโท ต่อเอก แต่ยุคนี้ไม่ใช่ เพราะเราเรียนรู้ได้ตลอดช่วงอายุชีวิต จึงเป็นแนวคิดที่มหิดลอยากสนับสนุนให้คนเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย แม้อายุ 75 แล้วก็ยังเรียนได้ รวมถึงอยากให้หลักสูตรการเรียนที่ออกแบบใหม่นี้ ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตอบโจทย์กับงานใหม่ ๆ ชีวิตใหม่ ๆ ปัญหาใหม่ ๆ ของเขาได้ด้วย หรือถ้าอยากจะเรียนเพื่อ Re-skill หรือ Up-skill ไม่ได้มุ่งเน้นปริญญา หรือวุฒิการศึกษา ก็มาเรียนได้เช่นกัน ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับศัพท์ใหม่ทางการศึกษาอย่างคำว่า Micro Module ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้แบบ Lifelong Learning นั่นเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่มหิดลอยากให้เกิดขึ้นก็คือ ความสำเร็จที่แท้จริงของการเรียนนั้น อยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ตามพระปณิธาน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มากที่สุด” อาจารย์ปิยะมิตรย้ำเรื่องนี้

ก่อนที่ “ศ.นพ.ปิยะมิตร” จะต้องไปทำภารกิจต่อช่วงเย็น “ทีมวิถีชีวิต” ได้ถามถึง “ความคาดหวัง” ว่า…อาจารย์ฝันอยากให้อะไรเกิดขึ้นที่สุดจากภารกิจที่ท้าทายนี้? ซึ่งอาจารย์ตอบว่า… “อยากให้องค์ความรู้ที่มหิดลมีอยู่ช่วยพัฒนาชีวิตและสุขภาวะที่ดีให้คนไทย ด้วยการทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ที่สุด ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้…เกิด Real World Impact อย่างแท้จริง”.

สมัยเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ รพ.สมุย

‘ขอเป็นหมอไปตลอดชีวิต’

ด้วยภารกิจงานด้านบริหารมากมาย ทำให้ “ทีมวิถีชีวิต” สงสัยว่าทุกวันนี้ “ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” ยังมีโอกาสได้ลงตรวจคนไข้หรือไม่? ซึ่งเมื่ออาจารย์ได้ยินคำถาม ก็ตอบกลับแบบอารมณ์ดีว่า ยังคงตรวจคนไข้เป็นประจำ โดยใน 1 สัปดาห์จะต้องพยายามหาเวลาเพื่อลงตรวจคนไข้ให้ได้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพราะทุกครั้งที่ได้ตรวจคนไข้ทำให้มีความสุขและรู้สึกมีชีวิตชีวามาก นอกจากนี้ อาจารย์ยังบอกว่า การตรวจคนไข้ดีกว่าการอ่านตำราเสียอีก เพราะคนไข้แต่ละคนมีมุมมอง มีเรื่องราว และข้อมูลที่ต่างกัน อาจารย์จึงได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เสมอจากคนไข้ แถมบางครั้งยังนำสิ่งที่คนไข้เล่ามาปรับใช้กับชีวิตอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร และตราบใดที่ยังมีแรงอยู่ จะไม่ทิ้งภารกิจนี้แน่นอน เพราะเป็น “Passion” ที่ทำให้ “รักในอาชีพหมอ”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน