จากกรณีพรรคก้าวไกลชูเรื่องแก้ ม.112 เป็นนโยบายหาเสียง และ สส.พรรคก้าวไกลส่วนหนึ่งเคยเข้าชื่อเสนอแก้ไข ม.112 เป็นการยุบพรรค ตาม พ.รป.พรรคการเมือง

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ได้ย้ำถึงข้อต่อสู้ที่สำคัญคือ การยื่นคำร้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องชี้แจง  การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   ข้ออ้างที่ กกต. กล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น  ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567  ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน การกระทำที่นอกเหนือจากการเสนอแก้ไข  ม.112 ทั้งหมด ไม่ได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งกรณีที่มี สส.เป็นนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 หรือการแสดงออกส่วนตัวอื่นๆ ขอยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้สั่งการ หรือบงการแต่อย่างใด

อีกทั้งการเสนอแก้กฎหมาย  ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ในอดีตก็มีการเสนอแก้อยู่หลายครั้งแต่ไม่เคยนำไปสู่การล้มลางการปกครองแต่อย่างใด  อีกทั้งคำวินิจฉัย 3/2567 โดยละเอียด เป็นเพียงการสั่งให้เลิกกระทำเท่านั้น มิได้ให้พรรคก้าวไกลยกเลิกนโยบายเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้กระทำ เนื่องจากหากศาลเห็นเป็นเช่นนั้น ก็ควรที่จะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเสนอนโยบายนี้ด้วยในอนาคต

คดียุบพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไร ก็รอดูผล 7 ส.ค.นี้ ซึ่งอาฟเตอร์ช็อคที่สำคัญ ไม่รู้ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหนระหว่างการลุกขึ้นประท้วงของประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล และเห็นว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอแก้ไขไม่ใช่เรื่องผิด ให้ไปคุยกันในสภาสิ ดีกว่าออกมาเล่นการเมืองบนถนน ..กับอีกแบบหนึ่งคือ “รอให้ถึงวันของเราจะเอาคืน” แกนนำพรรค สส.ที่ยังเหลือ ก็ทำงานต่อไปพร้อมกับสื่อสารประชาชนหนักๆ ถึงเรื่อง “นิติสงคราม” หรือความไม่ชอบธรรมทางการเมืองอื่นๆ เพื่อเป้าหมายผลเลือกตั้งแบบ “พลิกขั้ว” ชนิดที่พรรคใหม่เลือดก้าวไกลเดิม มีเสียงเกิน 300 สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนคดีนี้เป็นที่น่าสนใจว่า “เริ่มมีการใช้กระบวนการโลกล้อมประเทศ” ซึ่งก็คงจะมาจากเทคโนโลยีในการสื่อสาร นักวิเคราะห์ และอาจรวมไปจนถึงลอบบี้ยิสต์ ที่ทำให้ข่าวเรื่องนี้กระจายไปทั่วโลกในทำนอง “ไม่มีความชอบธรรมที่จะยุบพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงอันดับหนึ่ง 14 ล้านเสียง” และมองว่าการยุบพรรคเป็นการทำลายประชาธิปไตยเพราะพรรคการเมืองจะอยู่หรือไปนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกของประชาชน หากจะยุบด้วยข้อหา “คล้ายๆ กบฏ” ก็ต้องมีหลักฐานอะไรที่แข็งแรงกว่านี้ และทางก้าวไกลเองก็ยืนยันว่า การแก้ไข ม.112 ไม่ใช่การลดการคุ้มครองสถาบัน แต่เพื่อป้องกันการนำเอาสถาบันมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง  

เมื่อไม่กี่วันก่อน ทูต 18 ประเทศได้เข้าพบหารือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล หารือเรื่องนี้ ทำให้มีการมองว่า “ชักศึกเข้าบ้าน” เช่น น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต สส.กทม. และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “เรื่องนี้มีความหมิ่นเหม่เสมือนเป็นความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมอันเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการต่อสู้คดีความตามวิถีของตัวเองแล้ว และไม่มีกลไกใดเข้าขัดขวางการต่อสู้ดังกล่าว

สำหรับการแสดงออกของกลุ่มทูต 18 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีให้การสนับสนุน เห็นอกเห็นใจ รวมถึงการประกาศไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล ถือเป็นเรื่องผิดมารยาทอย่างมาก จึงขอให้คณะผู้แทนประเทศเหล่านั้นตระหนักว่าสิ่งที่ได้ทำไป ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยไม่เคยเรียกร้องหรือแสดงออกทางใดทางหนึ่งที่เป็นการไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่น  กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศบ้างหรือไม่ หรือปล่อยให้ทูตประเทศต่างๆ รับข้อมูลด้านเดียว จึงเป็นเหตุให้แสดงท่าทีออกมาเสมือนคนไม่รู้เช่นนี้  ขอเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศแสดงบทบาท”

ภาวะ “โลกล้อมประเทศ” เกี่ยวกับคดีนี้ ก็มีการแสดงออกมาอีก  เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2567 เบนจามิน แอล. คาร์ดิน ประธานคณะกรรมการวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วอชิงตัน ดี.ซี.  ได้ส่งจดหมายถึง รมว.ต่างประเทศของไทย ความว่า “ มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นทางกฎหมายที่พรรคก้าวไกลกำลังเผชิญอยู่  การเลือกตั้งในปี  2566  มีจำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยมีประชาชนชาวไทยมากกว่า 39 ล้านคนเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย

พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะอย่างมีนัยสำคัญ  สะท้อนถึงเจตจำนงและเสียงของชาวไทยกว่า 14 ล้านคน แต่พรรคก้าวไกลกลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และ กกต.ได้ยื่นคำร้องขอให้มีการยุบพรรค  ผมรู้สึกตื่นตระหนกกับการขาดความโปร่งใสในกระบวนการนี้ หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ การตัดสินใจนี้จะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายล้านคนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปประชาธิปไตยไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างแท้จริง การกระทำนี้อาจเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นค่านิยมที่ทั้งไทยและสหรัฐฯ มีร่วมกันและเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดำเนินมากว่า 190 ปี  ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพเจตจำนงของประชาชนและยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยที่เป็นรากฐานของพันธมิตรอันยืนยาวของเราผมหวังว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ด้วยความมุ่งมั่นต่อประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม  เสียงของประชาชนจะได้รับการรับฟังและเคารพ”

ขณะที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur)  ก็แสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.  เวบไซด์ ilaw ได้เผยแพร่บทความว่า “เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ  ส่งข้อแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของ กกต. เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล  ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นข้อชี้แจงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2  ส.ค. 2567  ทั้งนี้ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ มีข้อกังวลเกี่ยวกับ ม.112  ว่า “เราเป็นกังวลว่ากฎหมาย ม.112  จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก  คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council  ) เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน  

ประเทศไทยได้ตอบกลับเมื่อวันที่ 2  ส.ค. ความว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การหาเสียงโดยสัญญาว่าจะมีการแก้ไข ม. 112 โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ  และพรรคก้าวไกล ละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ  ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

อย่างไรก็ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19(3) ระบุว่า สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบพิเศษว่า สิทธิดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น  เพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อย

ม.112 ไม่ได้เพียงแค่ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แบบเดียวกับที่ปกป้องประชาชนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว  รัฐบาลไทยยืนยันว่า คดีตาม ม. 112 เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

หลังเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนเหตุการณ์ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าผิดตาม ม. 112 แล้ว คณะกรรมการพิจารณาที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะร่วมกันพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมานี้เข้าข่ายความผิดตาม ม. 112 หรือไม่ หลังคณะกรรมการพิจารณา  และอัยการก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกชั้นหนึ่งอยู่ดี ทำให้กระบวนการทั้งหมดมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัดและรัดกุม  

รัฐบาลยืนยันเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบของประเทศไทยว่า ยังคงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิเสรีภาพนั้นไว้แล้ว  ในมาตรา 34 มาตรา 42 และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมชุมนุมรวมกลุ่มกันอย่างสงบเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเอาไว้แล้วเช่นกันในมาตรา 45 อีกทั้งยังรับรองเอกสิทธิ์ความคุ้มครอง สส. และ สว.ในการอภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 สิทธินี้รับประกันว่าจะไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้แทนของประชาชนไทยได้ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย”

ซึ่งถ้าอ่านดู “คณะกรรมการพิจารณาที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะร่วมกันพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมานี้เข้าข่ายความผิดตาม ม. 112 หรือไม่” แต่ที่ผ่านมา ทำไมถึงไม่เคยมีข่าวการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ปรากฏ หรือทุกอย่างต้องเป็นความลับ ? ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ปกปิด เพื่อให้เห็นว่า “มาตรานี้จะไม่ใช้เป็นกฎหมายเพื่อการกลั่นแกล้งกัน เพราะมีกระบวนการที่รัดกุมเพิ่มมาอีกชั้น” และเชื่อว่า สิ่งที่ประชาชนอยากให้ยืนยันชัดเจนอีกอย่างคือ “เราจะมีแนวทางรับรองเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไรในกรณีการใช้ ม.112 เพื่อกลั่นแกล้งกัน สภานิติบัญญัติพึ่งพาได้หรือไม่” ง่ายๆ คือ เสนอแก้ไขได้หรือไม่ ?

วันที่ 7 ส.ค.ยังไม่ทราบว่าจะมีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่เรื่องโลกล้อมประเทศนี้ก็เป็นที่น่าสนใจอยู่ ว่า ที่สุดแล้วระดับการ sanction หรือแทรกแซงจะเป็นอย่างไร.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่