“ตอนมายืมแทบจะกราบ พอเราลำบาก หาตัวแทบไม่เจอ…ตอนโอนให้อย่างราชา แต่พอทวงขึ้นมาอย่างกับหมาข้างถนน”
ถือเป็นข่าวค่อนข้างใหญ่ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีการพิจารณาโยกย้ายตุลาการครั้งใหญ่ถึง 299 ตำแหน่งโดย นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรม
โดยมีผู้พิพากษาชื่อดังและตำแหน่งสำคัญที่น่าสนใจคือให้ นายอุเทน ศิริสมรรถการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 ไปนั่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจ
อาทิ คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามป.อาญา ความผิดทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ, คดีอาญาที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นในการป้องกันปราบปรามการทุจริตฯ
คดีเรียก รับ ทรัพย์หรือประโยชน์ ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพล จูงใจหรือข่มขืนใจ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ หรือไม่กระทำการ ตามกฎหมายอาญา, คดีฟ้องลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ, คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ยื่นบัญชีอันเป็นเท็จ
ให้ นายตุลยวัต พรหมพันธ์ใจ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ไปนั่ง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
ให้ นายสุชาติ สุนทรีเกษม ผู้พิพากษาศาลฎีกาไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งถือว่าได้รับความไว้วางใจให้ไปนั่งบริหารศาลอาญาซึ่งเป็นศาลหลักและเป็นศาลใหญ่ที่สุดของประเทศ เขตอำนาจครอบคลุมคดีอาญาที่มีอัตราโทษเกิน 3 ปี ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร 16 เขต รวมถึงคดีในกองปราบที่มีอำนาจจับกุมได้ทั่วประเทศ
และศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงแต่คดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลอาญา ที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาก็ได้ ซึ่งคดีดังและคดีอุกฉกรรจ์หลายคดีในต่างจังหวัดก็มีการโอนมาพิจารณาที่ศาลอาญาหลายคดี นอกจากนี้ศาลอาญา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยด้วย
นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่ง นายจีระพัฒน์ เป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม สมัยนางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม เป็นประธานศาลฎีกา มีผลงานช่วยขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาในการช่วยเหลือประชาชนในส่วนคดีที่ถูกฉ้อโกงและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่
โดยการตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย จากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing
นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โอนกลับไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่ง นายธานี เป็นผู้พิพากษานักวิชาการมีลูกศิษย์ในวงการกฎหมายให้ความเคารพนับถือ แต่งตำรากฎหมายขายดีมีคุณภาพหลายเล่ม โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีอำนาจศาลครอบคลุมพื้นที่ 7 เขตในกรุงเทพฯซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ
นางสาวอินทิรา ฉิวรัมย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 1 ไปนั่งรองประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่ง นางสาวอินทิรา เป็นที่รู้จักในงานบรรยายสายวิชาการ เป็นอธิบดีศาลแรงงานภาค 1 ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เดินสายลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรของศาลแรงงานในการบริการประชาชน
เป็นเจ้าภาพประชุมสัมมนาผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานทั่วประเทศ ครั้งที่ 9 เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยทั่วไทยยุติข้อพิพาทแรงงาน สู่กระบวนการยุติธรรมทางเลือก จัดศาลแรงงานเคลื่อนที่อำนวยความยุติธรรมประชาชน ผ่านหลักสูตรระดับสูง ทั้ง วปอ.55 และ บยส.24 ถือเป็นผู้พิพากษาหญิงที่เก่งมีผลงานในตำแหน่ง
นายเอื้อน ขุนแก้ว หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไปเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่ง นายเอื้อน เป็นผู้พิพากษา สายวิชาการชื่อดังในเนติฯ สอบได้อันดับ 1 ทั้งเนติฯ และผู้ช่วยฯ รุ่น 32 มีผลงานเขียนตำราหลายเล่ม โดดเด่นในกฎหมายล้มละลาย ลูกศิษย์ให้ความชื่นชอบ
นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ไปเป็น ประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มีผลงานโดดเด่นสมัยเป็นรองอธิบดีศาลอาญา ในการประสานงานกับสื่อมวลชนอธิบายระเบียบกฎเกณฑ์ได้ชัดเจน
นายนาวี สกุลวงศ์ธนา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (แรงงาน) ไปเป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 4 ซึ่ง นายนาวี มีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายเรื่องความยุติธรรมไม่มีวันหยุดที่มีการชูสิทธิการประกันตัว ของผู้ที่ไม่มีเงินและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
โดยลงพื้นที่แจ้งสิทธิผู้ต้องขังร่วมกับ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ในขณะนั้น และน.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม
ศาลฎีกาคนต่อไปตั้งแต่ยุค นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตปธ.ศาลฎีกา ถือเป็นมือทำงานที่ช่วยในเรื่องการผลักดันนโยบายเรื่องสิทธิประชาชน
นายเจริญ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปเป็น ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 9
นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งอาวุโสเบอร์ 2 รองจากประธานศาลฎีกา ถือเป็นศาลสูงถัดจากศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจ ในเขตกรุงเทพฯ 20 ศาล
รวมกับมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่นในเขตท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค เว้นแต่คดีที่อยู่นอกเขตศาลอุทธรณ์จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ แต่คดีต้องได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
นางมัณทรี อุชชิน ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกา คนที่ 1
นายวิชาญ ศิริเศรษฐ์ ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 2
นายวิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 3
นายเศกสิทธิ์ สุขใจ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 4
นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษไปเป็น รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5
นายรังสรรค์ โรจน์ชีวิน ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 6
นายศุภมิตร บุญประสงค์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปเป็น ประธานแผนกคดีเลือกตั้งฯ ในศาลฎีกา
นายอรพงษ์ ศิริกานต์นนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ไปเป็นประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นศาลที่มีบทบาทสำคัญ พิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ
การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย โดยการพิจารณาคดีจะเป็นระบบไต่สวน ต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไป โดยมีองค์คณะในคดี 9 คนมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
นายสุรินทร์ ชลพัฒนา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในสมัยเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา ในยุค นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เป็นคีย์แมนขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาจำเลย เรียกว่าความยุติธรรมไม่มีวันหยุด ที่ส่งผลให้สามารถมีการยื่นขอประกันตัวได้ทุกวันทุกเวลา
มีความสามารถการบริหารจนเป็นที่ไว้ใจ ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นช่วงอีสานตอนบนครอบคลุมพื้นที่ 18 ศาล 12 จังหวัด ถือว่าได้กลับถิ่นเก่าโดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยมีสำนักงานอยู่ที่ขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน
ในเมื่อมีการโยกย้ายข้าราชการตุลาการครั้งใหญ่ในครั้งนี้แล้ว ทิศทางในอนาคตจะเป็นเช่นไร..คงต้องจับตามองกันต่อไป.
ผลการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 19/2567
ผลการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 20/2567
ข่าวสารตำรวจ
ยาเคแพร่ระบาดหนักที่ชุมแพ
พ.ต.อ.รักชาติ เรืองเจริญ ผกก.สภ.ชุมแพ จว.ขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์ การเเพร่ระบาดของ ‘ยาเค’ (Ketamine) ในกลุ่มวัยรุ่น ที่ใช้สูดดม ออกฤทธิ์หลอนประสาท ผู้เสพจะรู้สึกว่าเกิดภาพฝัน เพลิดเพลิน ในระยะสั้นจะทำให้เกิดอาการหวาดระแวง จิตหลอน ที่กำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ ตนได้สั่งการให้กวดขัน จับกุมให้สิ้นซาก ล่าสุดได้นำกำลังเข้าจับกุมผู้ค้ารายย่อยด้วยตนเอง ก่อนให้การซัดทอดถึงผู้ค้า และเตรียมขยายผลจับกุมถึงเอเย่นต์รายใหญ่ ฉายา สารวัตรแจ็ค ที่กลุ่มวัยรุ่นเรียกขานกันในวงการ งานนี้ขยายถึงใคร คนมีสีในวงการสีกากีเกี่ยวข้องหรือ ตนสั่งฟันไม่เลี้ยงแน่นอน
ต้นแบบของโรงพัก
พ.ต.ท.กฤต แจ่นประโคน สว.สภ.น้ำเป็น จ.ระยอง ร่วมงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม และการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 ภาคกลาง ที่จังหวัดระยอง โดยทางวัฒนธรรมจังหวัดระยองให้ สภ.น้ำเป็น เป็นต้นแบบของโรงพักจังหวัดระยองด้านคุณธรรม จริยธรรมของศาสนา ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จ.ระยอง
แม่ดีเด่น-ลูกกตัญญู
ครอบครัว “หันภาพ “ได้รับรางวัล แม่ดีเด่นพร้อมลูกชาย ทั้ง2คน ประกอบด้วย นางศรีจันทร์ ศรีสองเมือง พ.ต.ต.นพพล หันภาพ สว (สืบสวน) สน.หนองค้างพูล นาย นิติ หันภาพ รางวัลลูกกตัญญู โดยมีนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานมอบใบประกาศให้กับผู้รับรางวัลแม่ดีเด่น พร้อมลูกกตัญญูทั่วประเทศ ณ.ห้องประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกศาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโดยสมาคมเมโลเดียน สถาบันส่งเสริม ศักยภาพเด็กและเยาวชน เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12สิงหาคม 2567โดยคณะกรรมการได้พิจารณา คัดเลือกและสรรหาบุคคล ที่มีคุณธรรมและการบำเพ็ญประโยชน์ที่สมควรแก่การยกย่องเป็นลูกกตัญญได้พิจารณาถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดี ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้ารับรางวัลลูกกัญญ ประจำปี 2567
พิธีบำเพ็ญกุศล
พล.ต.อ.กิตติพงษ์ เงามุข อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.ธรรมรัฐ อัครไชยพงศ์ ผกก.สภ.พนัสนิคม นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ อดีต สส.ชลบุรี นายสุชาติ สุรกิจบวร ประธานกรรมการ บริษัท แพลน พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นางสาวมาลัย วิวัฒน์เจริญ ประธานกรรมการบริหาร โครงการเนเจอร์วิลเลจ นายธีรธัช รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แพนพลัสแอทเสท จำกัด ร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพ คุณพ่ออุดม นิรนพรัตน์ ที่วัดเกาะแก้วนครสวรรค์ อ.พนัสนิคม โดยมี คุณแม่ดวงใจ นิรนพรัตน์ (ภรรยา) พร้อมด้วย นายธีรศักดิ์ นิรนพรัตน์ ผู้บริหารห้างทองกาญจนาภิเษก บุตร-ธิดา หลานๆ ร่วมดำเนินงานและให้การต้อนรับ
เจริญพระพุทธมนต์
พล.ต.ต.วัชรินทร์ ประสพดี ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี พร้อมด้วย พ.ต.อ.สมเดช เกษมสุข ผกก.(สอบสวน) ภ.จว.สุพรรณบุรี , ข้าราชการตำรวจ ภ.จว.สุพรรณบุรี และ สภ.เมืองสุพรรณบุรี เข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระพุทธรูปสำคัญ ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยมี นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานพิธีฯ ณ พระวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
ลุยแก้ปัญหายาเสพติด
นายสิทธิศักดิ์ แย้มพรายภิรมย์ นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี สนองนโยบาย มท. เร่งติดตาม ป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อลด Demand ยาเสพติด นำตัวผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด และกวดขันจับกุมผู้ค้าผู้เสพ ล่าสุดสั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ ฝ่ายปกครอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี นำโดย นายธนพล สังขพันธุ์ ปลัดอำเภอเมืองฯ จนท.อส.เมืองฯออกตรวจสอบหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน เกี่ยวกับการมั่วสุมเสพยาและค้ายา สามารถกวาดล้างจับกุมเข้าสู่กระบวนการ มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจริงจังแบบนี้ ต้องขอปรบมือให้
ผู้ปิดทองหลังพระของแทร่
พ.ต.อ.มงคล สุนทรวิภาต นวท.(สบ 4) ผกก.พฐ.จว.สุพรรณบุรี และทีมงาน มีความรู้ความสามารถ มีจรรยาบรรณเต็มร้อย ทุกคดีทำอย่างละเอียดแบบมืออาชีพ โดยเฉพาะงานตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดีต่าง ๆ ที่ต้องใช้กระบวนการด้านวิทยาศาสตร์และหลักนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งการตรวจสถานที่เกิดเหตุ การตรวจลายนิ้วมือ รวมทั้งตรวจสอบวัตถุพยาน เพื่อประกอบการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม ได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ว่าทำงานละเอียดรอบครอบ ขอบอกเลยว่าคดีสำคัญๆหลายคดีที่เคยตกเป็นข่าวใหญ่ หากไม่ได้ “ผกก.อ้น” พร้อมทีมงาน พฐ.ชุดนี้ ไขคดีให้ รับรองเลยว่าคดีดังกล่าวพวกนั้นคงกลายเป็นปริศนาแล้วปิดคดีไม่ได้อย่างแน่นอน.
ทำบุญวันคล้ายวันเกิด
เมื่อเร็วๆนี้ นางประชิด ชินราช ประธานพัฒนาสตรีจังหวัดระยอง พร้อมด้วยสัมฤทธิ์ ชินราช อดีตผู้ใหญ่บ้าน นายสราวุธ ชินราช ประธานกต.ตร.สภ.ปากน้ำประแสร์/ผู้บริหารบริษัทชินราช ซีเอ็นอาร์ ทรานสปอร์ต (CNR) และครอบครัวญาติพี่น้อง เดินสายทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดนายสราวุธ หรือเสี่ยเอก ชินราช ประธานกต.ตร.สภ.ปากน้ำประแสร์/ผู้บริหารบริษัทชินราช ทรานสปอร์ต (CNR) เข้าถวายสักการะพระสังฆราช เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก และพระสงฆ์ ณ อุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 9 สิงหาคม 2567 ครบ 40 ปี นอกจากนี้ยังได้พาครอบครัวไปทำบุญถวายสังฆทาน ปล่อยนก ปล่อยสัตว์น้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว ณ วัดตาขัน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
************************************
คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป