หรือที่เรามักเรียกว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) ผู้ที่มี IFG อย่างเดียวโดยไม่มี IGT เรียกภาวะนี้ว่า isolated IFG ในทำนองเดียวกันผู้ที่มี IGT อย่างเดียวโดยไม่มี IFG เรียกภาวะนี้ว่า isolated IGT ส่วนผู้ที่มีความผิดปกติทั้งสองอย่าง จะเรียกภาวะนี้ว่า combined IFG/IGT
ผู้ที่มี isolated IFG หรือ isolated IGT หรือ combined IFG/IGT มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคตสูงมากกว่าคนปกติ การศึกษาในประชากรขนาดใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกใช้เกณฑ์การวินิจฉัย IFG ที่แตกต่างกัน บางการศึกษาใช้เกณฑ์วินิจฉัย IFG ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO (ระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร 110-125 มก/ดล) บางการศึกษาใช้เกณฑ์วินิจฉัย IFG ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Diabetes Association (ระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร 100-125 มก/ดล) ซึ่งทั้งสองเกณฑ์นี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานแตกต่างกัน ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร 110-125 มก/ดล มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสูงมากกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร 100-125 มก/ดล และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าผู้นั้นมีความผิดปกติทั้ง IFG และ IGT
ผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (lifestyle modification) ต่อการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (lifestyle modification) โดยการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5-7 ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ถึงแม้ว่าจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ในทุกกลุ่ม แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม การศึกษาส่วนใหญ่มักทำในผู้ที่มีความผิดปกติแบบ IGT (อาจมีหรือไม่มี IFG) พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างเข้มงวดสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มนี้ได้ถึงร้อยละ 30-50
การศึกษาในประเทศไทยโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เอกพลากร และคณะ เปรียบเทียบผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตกับกลุ่มควบคุม ในผู้ที่มี IFG (WHO) และ/หรือ IGT จำนวน 1,903 ราย ติดตามนาน 2 ปี พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตสามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้ร้อยละ 29 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยจะได้ผลดีที่สุดในกลุ่มที่มี combined IFG (WHO)/IGT ซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้มากถึงร้อยละ 45 ในขณะที่อัตราการเกิดโรคเบาหวานลดลงเพียงร้อยละ 15 ในผู้ที่มี isolated IGT ซึ่งผลการศึกษาของประเทศไทยนี้ดูเหมือนว่า ประสิทธิภาพของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้น้อยกว่าการศึกษาของประเทศอื่น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้เข้าร่วมการศึกษา (น้ำหนักลดลงเฉลี่ย 1.5 กก.) ตลอดจนระยะเวลาการติดตามที่ไม่นานนัก
การศึกษาผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตต่อการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีเฉพาะ isolated IFG ยังมีค่อนข้างจำกัด ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ดูเหมือนว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตมักจะไม่ได้ผลดีนักในผู้ที่มีความผิดปกติแบบ isolated IFG การศึกษาในอินเดียและญี่ปุ่นในผู้ที่มี isolated IFG (ADA) และ combined IFG (ADA)/IGT พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานลดลงเฉพาะในกลุ่มที่มี combined IFG (ADA)/IGT เท่านั้น แต่จะไม่ลดในกลุ่มที่มี isolated IFG (ADA) ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจะได้ผลในผู้ที่มี isolated IFG โดยใช้เกณฑ์ WHO หรือไม่นั้น ยังไม่มีการศึกษาโดยตรง
โดยสรุป ผู้ที่มี IFG และ/หรือ IGT มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเบาหวาน ความเสี่ยงจะมากน้อยเพียงใดขึ้นกับระดับน้ำตาลในเลือดที่วัดได้ ความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นในผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเข้าใกล้เกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (oral glucose tolerance test) ในผู้ที่มี IFG (ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ของ ADA หรือ WHO) มีประโยชน์ในการช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์