เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 67 นายสานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากกรณี การย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยในขณะนี้กระแสสังคมได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก จากก่อนหน้านี้ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือ พร้อมทั้งให้หาแนวทางในการพัฒนาริเวณท่าเรือคลองเตย ของ กทท. ทั้งหมดกว่า 2,353 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ในครั้งนี้นั้น เพื่อต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ลดปัญหาความแออัดของชุมชน แก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร ซึ่งรวมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย
นายสานิต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทางนอร์ทกรุงเทพโพล ได้ทำการสำรวจประชาชน จำนวน 2,500 ราย เมื่อวันที่ 22-30 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา โดยสอบถามว่า ท่านทราบโครงการการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) หรือไม่ พบว่า ประชาชนทราบ ร้อยละ 70.3 และไม่ทราบ ร้อยละ 29.7 พร้อมทั้งถามต่อว่า เห็นด้วยหรือไม่ กับการย้ายท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 70.7 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 16.2 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 13.1
อีกทั้งยังสำรวจต่ออีกถึง การย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จะทำให้เกิดประโยชน์ ที่ดินในพื้นที่เดิมอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ใช้ผสมผสานการใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ร้อยละ 40.2 ใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ด้อยโอกาส ร้อยละ 16.7 ใช้เป็นสวนสาธารณะ ร้อยละ 11.3 ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ 10.2 ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้อยละ 3.2 และ อื่นๆ ร้อยละ 18.4
ทั้งนี้ประชาชนผู้ให้การสำรวจทั้งหมดนั้น มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารกรณีแผนการย้ายท่าเรือกรุงเทพมาจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ ร้อยละ 24 แผ่นพับ โปสเตอร์ เอกสารประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 14.2 ทางวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี ร้อยละ 12.4 ทางสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ วารสาร ร้อยละ 9.3 เอกสารเผยแพร่จากทางราชการ ร้อยละ 5.2 และอื่นๆ ร้อยละ 34.9.