เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านปฏิบัติการฉุกเฉิน และโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าว “สพฉ.กับปฏิบัติการเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม.นำเข้าสู่ระบบการรักษา” ว่า จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พบปัญหาผู้ป่วยตกค้างที่บ้าน บางรายมีอาการรุนแรงมากขึ้น บางรายถึงขั้นเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายให้ สพฉ. จัดทีมปฏิบัติการพิเศษ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วรับผู้ป่วยตกค้างที่มีอาการรุนแรงขึ้น ต้องนำเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร่งด่วน 

“ซึ่งหมายถึง ไม่อาจรอคิวได้ หรือรอว่าจะให้ส่งไป รพ.ใด มีเตียงหรือไม่ ทีมปฏิบัติการพิเศษก็ไม่รอเช่น จะไปจุดที่ผู้ป่วยอยู่อย่างรวดเร็ว เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด โดยรองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้ รพ.ทุกแห่ง ต้องพร้อมดูแลผู้ป่วยที่ สพฉ.นำส่งไปให้ทันที หลังจากนั้นจะนำส่งต่อไป รพ.ใดเป็นขั้นตอนต่อไปโดยคำนึงถึงว่า ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดในรพ.” โฆษก สพฉ. กล่าว

สำหรับช่องทางที่ สพฉ. จะค้นหาผู้ป่วยที่ตกค้างในบ้านนั้น โฆษก สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. เปิดกว้างรับฟังข้อมูลร้องเรียนจากทุกสื่อ ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ เพจต่างๆ ทางเฟซบุ๊ก มีทีมหลังบ้านที่เป็นแพทย์ พยาบาล ร่วมปฏิบัติการด้วย จะโทรฯ ไปหาผู้ป่วยเพื่อฟังเสียง ดูหน้าตา อาการ  เป็นข้อมูลในการจัดระดับอาการของผู้ป่วย นอกจากนี้ สพฉ. ยังได้รับข้อมูลจากสายด่วน 1668, 1669, 1330 รวมทั้งเครือข่ายมูลนิธิ จิตอาสาของ สพฉ. โดยข้อมูลที่เราต้องการคือ ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ผู้ป่วยหรือญาติใกล้ชิด และผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ เมื่อได้ข้อมูลแล้ว สพฉ. จะกรองและจัดกลุ่มอาการ และส่งทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจไปช่วยเหลือ

“สำหรับกลุ่มอาการสีแดง สพฉ. จะประสานทางวิทยุสื่อสารกับศูนย์เอราวัณ เพื่อจัดยานพาหนะที่มีเครื่องมือพิเศษ นำส่งผู้ป่วยไป รพ. ส่วนผู้ป่วยกลุ่มอาการเขียว เหลือง ส้ม แต่มีลักษณะพิเศษคือ อายุมาก หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ก็จะร่วมมือกับจิตอาสา ร่วมมือกันอีกทีม โดยทีมปฏิบัติการพิเศษนี้ จะทำงาน 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ กล่าว

นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา จากการระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 เป็นต้นมา สพฉ. ให้การช่วยเหลือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑ, 10,735 ราย เฉพาะวันที่ 8 ก.ค. ออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย 167 ราย ใช้ทีมปฏิบัติการ 24 ทีม สพฉ.ขอขอบคุณพี่น้องจิตอาสา ที่เสียสละ เวลา กำลังกาย รวมทั้งยานพาหนะ มาช่วยในการปฏิบัติช่วยผู้ป่วยโควิดในครั้งนี้ ผู้ป่วย หรือประชาชนที่รับทราบข้อมูลผู้ป่วย สามารถแจ้งข้อมูลได้ตามเพจต่างๆ รวมทั้งเพจของ สพฉ. สายด่วน 1668, 1669, 1330  ทุกช่องทาง สพฉ. จะติดตาม และเร่งไปช่วยหลือโดยเร็ว.