กองทุน Thai ESG ที่ทาง ครม. มีมติให้มีการปรับเกณฑ์ใหม่สดๆร้อนๆเมื่อบ่ายวันนี้ เพื่อช่วยดึงดูดนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มสถาบันและต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น และช่วยผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนต่างเร่งปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
กองทุน Thai ESG คืออะไร
กองทุน Thai ESG มีชื่อเต็มว่า Thailand ESG Fund หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ที่ออกมาเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์อื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านความยั่งยืน (sustainability) หรือด้าน ESG ผ่านกองทุนรวมที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยแต่ละตัวอักษรของ ESG มีความหมาย ดังนี้
• E = Environmental (สิ่งแวดล้อม) หมายถึง การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุดและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต การส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV หรือลดการใช้พลังงานอย่างการเดินทางที่ไม่จำเป็นลง เป็นต้น
• S = Social (สังคม) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กร พนักงาน ผู้อยู่อาศัยรอบโรงงาน/องค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร การส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น
• G = Governance (ธรรมาภิบาล) หมายถึง ความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ และสามารถตรวจสอบได้
จากข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ณ 13 ก.ค. 67 พบว่ามีกองทุน Thai ESG จำนวน 24 กองทุน แบ่งเป็น (1) กองทุนหุ้น 18 กองทุน (2) กองทุนผสม 3 กองทุน และ (3) กองทุนตราสารหนี้ 3 กองทุน ตัวอย่างเช่น
• กองทุน K-TNZ-ThaiESG ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย ของบริษัทที่อยู่ในดัชนี SET100 ที่มีการตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเสี่ยงกองทุนอยู่ที่ระดับ 6
• กองทุน K-ESGSI-ThaiESG ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และเกี่ยวข้องกับ ESG ความเสี่ยงกองทุนอยู่ที่ระดับ 3
ประหยัดภาษีได้เท่าไหร่
แน่นอนว่าการลงทุนในกองทุน Thai ESG ยิ่งมาก ตราบเท่าที่ยังไม่เกินสิทธิ ย่อมได้เงินคืนภาษีหรือประหยัดภาษีได้มากยิ่งขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนที่มีรายได้ต่างกัน ด้วยเงินลงทุนกองทุน Thai ESG ที่เท่ากัน เช่น 1 แสนบาท ภาษีที่ประหยัดได้ก็ไม่เท่ากันด้วย อย่างเงินลงทุน 1 แสนบาท ภาษีที่ประหยัดได้ ขึ้นกับรายได้และค่าลดหย่อนของแต่ละคน เช่น
• เงินเดือน 35,000 บาท ฐานภาษี 5% ภาษีที่ประหยัดได้ ปีละ 5,000 บาท
• เงินเดือน 50,000 บาท ฐานภาษี 10% ภาษีที่ประหยัดได้ ปีละ 10,000 บาท
• เงินเดือน 85,000 บาท ฐานภาษี 20% ภาษีที่ประหยัดได้ ปีละ 20,000 บาท
• เงินเดือน 190,000 บาท ฐานภาษี 30% ภาษีที่ประหยัดได้ ปีละ 30,000 บาท
ทั้งนี้ การคำนวณเบื้องต้นจากค่าใช้จ่าย 40(1) ตามกฎหมาย โดยไม่มีรายได้อื่น มีค่าลดหย่อนส่วนตัวและประกันสังคมเท่านั้น