เรื่องนี้ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่า ทุกวันนี้โลกให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมาก หากใครยังไม่เริ่มก็จะไม่มีจุดยืนในสังคม ททท. จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด 64 ปี เช่น การพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในนิตยสาร อ.ส.ท. การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร 7 กรีนคอนเซปต์ ในหมู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว, การกำหนดเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
นอกจากนี้ ททท. ยังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต่อไป เช่น การตั้งเป้าให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมี STGs Star ให้ได้ 3 ดวงอย่างน้อย 80% ภายในปี 2570 การช่วยธุรกิจโรงแรมและที่พักหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่าน Platform CF-Hotels เพื่อมุ่งสู่การเป็นเน็ต ซีโร่ ทัวริสม์
ตั้ง trekking THAI และอุปนายกสมาคมการค้าเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงนิเวศเอเชีย เล่าถึงปัญหาภาพรวมของท่องเที่ยวไทยว่า การท่องเที่ยวกำลังประสบวิกฤติ จากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ 1. มลพิษอย่างฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวน้อยลงในบางพื้นที่ 2. วิกฤติโลกรวนที่ทำให้ที่มีอากาศเหมาะกับการท่องเที่ยวมีน้อยลง และ 3. ความเสื่อมของระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการแปรปรวนอย่างโรคระบาด หรือปะการังฟอกขาว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่นักเดินทางจากทั่วโลกให้ความสำคัญในการเลือกเป้าหมายการเดินทาง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้อันดับที่ 47 จากเกณฑ์ GSTC ตกลงมาจากปีก่อนหน้าถึง 12 อันดับ ทุกองคาพยพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยวจึงควรร่วมมือกันยกระดับเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ส่วน “รัฎดา ลาภหนุน” ผู้ก่อตั้งเครือข่ายประชาคมเกาะ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย ระบุถึงการปรับตัวรับมือวิกฤติโลกรวนว่า การท่องเที่ยวเกาะสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ประชาคมเกาะ จึงตื่นตัวและเตรียมรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ อย่าง การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ การพัฒนาไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นเรื่องปริมาณแต่สามารถพัฒนาในเชิงคุณภาพได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และทำให้เกิดความยั่งยืน
ขณะที่ “อลิสรา ศิวยาธร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ ตัวแทนจากอุตสาหกรรมโรงแรม เล่าประสบการณ์ตรงว่า การปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในเวลาอันสั้น ศิวาเทลใช้เวลาร่วม 7 ปีในการปรับตัว จนปัจจุบันสามารถบรรลุการจัดการขยะอาหารเป็นศูนย์ (ซีโร่ ฟู้ดส์ เวสท์ โฮเทล) ได้แล้ว ซึ่งธุรกิจโรงแรมเป็นจ๊ิกซอว์สำคัญของการท่องเที่ยวในฐานะผู้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โรงแรมจึงถือว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนี้ได้
ด้านมุมมอง ร้านอาหาร “มนต์เทพ กมลศิลป์” เฮด เชฟ ประจำห้องอาหารธาน ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร มองว่า ในฐานะคนทำอาหารมองว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างความยั่งยืน คือ ทำให้คนได้กินอาหารที่หลากหลายจากวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย การใช้วัตถุดิบในประเทศจะทั้งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าจดจำให้กับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้คน
ในท้องถิ่น และช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่อาหารจะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้.