ส่วนประวัติ นายล้อม เพ็งแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2479 ที่ ต.ชะมวง (ปัจจุบันคือ ต.ควนขนุน) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรของ นายหรอด-นางนวล เพ็งแก้ว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 12 คน แรกเกิดบิดาตั้งชื่อ ด.ช.ล้อม ว่า “ไข่” แต่ไปแจ้งเกิด ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม ช่วยพูนเงิน) กำนันตำบลชะมวง อ.ควนขนุน ในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “ล้อม” ต่อมานายล้อม สมรสกับ ผศ.เบ็ญจา เพ็งแก้ว มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน คือ น.ส.กมลพรรณ (ใหญ่) น.ส.พรรณประไพ (เล็ก) น.ส.นิพัทธ์พร (เอียด) น.ส.ก่องแก้ว (แก้ว) น.ส.กนิษฐา (ก้อย) นายขับพล (ก้อง) และ น.ส.รจน์ (กิ่ง) เพ็งแก้ว
สิ้นแล้ว! ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ‘ปราชญ์เมืองเพชร’ ปูชนียบุคคล
นายล้อม เข้าศึกษาจนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนประชาบาลตำบลชะมวง 3 อ.ควนขนุน และจนจบชั้น ม.6 ที่โรงเรียนช่วยมิตร อ.ควนขนุน, ปี 2497 เป็นนักเรียนทุนกระทรวงศึกษาธิการที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไม่ถึง 1 เดือนก็ได้รับเลือกให้ไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร) เรียนจบหลักสูตรประโยคครูประถม (ปป.) ในปี 2500 จากนั้นเรียนต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) สำเร็จหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขามัธยมศึกษาปี 2504 และได้รับตำแหน่งอาจารย์ตรี สอนวิชาภาษาไทย ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2504
กระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม 2511 นายล้อมได้รับคำสั่งจาก จ.เพชรบุรี (ขณะนั้นโรงเรียนฝึกหัดครูยังขึ้นกับจังหวัด) ให้ไปช่วยราชการเป็นอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม จ.มหาสารคาม กระทั่งปี 2516 ได้ย้ายกลับมาที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี (ซึ่งย้ายจากวัดเกตุมาตั้งอยู่ที่ ต.นาวุ้ง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อ พ.ศ.2506) ปี 2518 ปรับเป็นอาจารย์ 3 ระดับ 7 ปรับเป็นระดับ 8 และต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2529 กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งนายล้อมให้เป็นอาจารย์ระดับ 9 คนแรกของประเทศ และเป็นอาจารย์ระดับ 9 มีอายุน้อยที่สุด
นายล้อม เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนง เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่ได้รับการขนานนามว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” หรือ “ปราชญ์เมืองเพชร” เริ่มเขียนงานลงตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์สาส์นเพชร ที่มี นายชลอ ช่วยบำรุง เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ต่อมาได้รู้จักกับนายปรุง สุนทรวาทะ ทนายความและเจ้าของหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ได้เชิญนายล้อม ให้มาเขียนบทความให้นับแต่นั้นมาจนถึงปี 2565
ในปี 2529 นายล้อม ได้แสดงความเห็นขัดแย้งกับนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผวจ.เพชรบุรี ในขณะนั้นที่สั่งให้ทุบทำลายปูนปั้นของนายทองร่วง เอมโอษฐ ช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี (อดีตศิลปินแห่งชาติ) ได้ปั้นล้อเลียนการเมืองไว้ที่บริเวณฐานเสมาของอุโบสถวัดสนามพราหมณ์ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ทำให้นายเชาวน์วัศ โกรธเป็นอย่างมาก แต่กรมการฝึกหัดครู สอบสวนข้อเท็จแล้วเห็นว่านายล้อม ไม่มีความผิดจึงไม่ลงโทษ
นายล้อม รับราชการครูอยู่ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี ก่อนยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏเพชรบุรี จนเกษียณอายุราชการในปี 2540 ขณะนั้นแพทย์ตรวจพบว่านายล้อมป่วยเป็นโรคตับและโรคไตวายเรื้อรัง ต้องฟอกไต จึงซื้อบ้านพักอาศัยที่ซอยประสานสุข ถนนบริพัตร ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติ ด้วยการเขียนผลงานวิชาการ ประวัติศาสตร์ ในวิทยาสาร, วิทยาจารย์, ฟ้าเมืองไทย, ฟ้า, คุรุปริทัศน์, มติชน, ศิลปวัฒนธรรม, เมืองโบราณ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, เพชรภูมิ, เพชรนิวส์ ฯลฯ
อีกทั้งยังมีผลงานรวมเล่มที่พิมพ์เผยแพร่แล้วได้แก่ พระรถนิราศ, วิวาทศิลป์, ว่ายเวิ้งวรรณคดี, ภาษาสยาม, ค้นคำ, ภูมิพื้นภาษาไทย, ดาวประจำเมืองนคร, สนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล, เสน่ห์สำนวนไทย, คู่มือพุทธประวัติ, เพราะได้เห็น จึงได้คิด และผลงานต่างๆ อีกมากมาย
ในปี 2548 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แต่งตั้งนายล้อมให้เป็น “เกตุทัต ศาสตราภิชาน” และได้รับการเชิดชูเกียรติต่างๆ มากมาย อาทิ ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย, มหาวิทยาลัยศิลปากร มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชามานุษยวิทยา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนงอย่างลึกซึ้ง
ปี 2559 ได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ประจำปีการศึกษา 2558 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อีกทั้งยังได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์มติชนให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจัดทำ “พจนานุกรม ฉบับมติชน” และได้รับการเลือกให้เป็นนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี จ.เพชรบุรี คนที่ 2 ต่อจาก นางประโยชน์ สุนทรวาทะ ซึ่งเป็นนายกก่อตั้ง และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย