ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 ก.ค.67 ที่จะถึงนี้ ที่ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน จะเป็นการนัดตรวจพยานหลักฐานระหว่างฝ่ายโจทก์คือ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ จำเลยคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต  ในฐานะกรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ คดีหมายเลขดำที่ 147/2566 ซึ่งศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ประเภทช่องรายการกำชับให้ทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตในการนำพาสัญญาณของสถานีตนให้ไปออกผ่านโครงข่ายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และระบุว่าทรูไอดีไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายซึ่งจะมีสิทธิตามกฎมัสท์ แคร์รี่ในการนำพาสัญญาณของทีวีดิจิทัลไปออกอากาศได้โดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ

ทางบริษัททรูดิจิทัลฟ้องว่า หนังสือดังกล่าวทำให้บริษัทได้รับความเสียหายและอาจส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ระงับการเผยแพร่รายการต่างๆ ผ่านทางโครงข่ายของตน โดยระบุว่าทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการโอทีที ขณะที่ ดร.พิรงรอง ยืนยันทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนแพลตฟอร์มทรูไอดี และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

สำหรับจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าวนั้น มาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี

มีรายงานว่าในการนัดตรวจพยานหลักฐานดังกล่าว ฝ่ายจำเลยคือ ดร.พิรงรอง รามสูต ได้เสนอรายชื่อพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายคน อาทิ น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค , ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) , พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา สำหรับสองคนหลังเป็นอดีตกรรมการ กสทช. อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดีเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายโจทก์เสนอขอให้ตัดพยานส่วนนี้ออกไปทั้งหมด

ทั้งนี้ ทันทีที่ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้ ทางโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้  แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุริกจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง จึงยกคำร้องดังกล่าว แต่ศาลยืนยันอำนาจในการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าหากมีพฤติการณ์เปลี่ยนไป อาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้.
(ด่วน! ศาลฯสั่งยกคำร้อง กรณี “ทรู” ฟ้อง “พิรงรอง” ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กสทช.)