เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังต้องจับตามองการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังแพร่ระบาดเป็นอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เผยถึงแนวคิดการกำจัดปลาหมอคางดำผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 โดยระบุว่า อย่างที่ทราบกันว่าปลาหมอคางดำมันเกิดง่าย ตายยากและยังอึดทน แพร่พันธุ์ได้เร็วเหมือนกองทัพปีศาจที่คืบคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นการแพร่ระบาดแบบนี้ที่ยังควบคุมไม่ได้โดยเร็ว ก็เสี่ยงที่มันจะยึดเต็มพื้นที่แหล่งน้ำทั่วประเทศไทย
-ป้องสูญพันธุ์! อาจารย์แม่โจ้ ไม่นิ่งนอนใจ แนะวิธีกำจัด-ล่า ‘ปลาหมอคางดำ’

ตอนนี้ระบาดภาคกลาง แล้วลงไปทางใต้ ก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปภาคเหนือ ภาคอีสาน อย่างแน่ๆ อัตราการแพร่กระจายแบบนี้ ผมว่าเร็วๆนี้ นครสวรรค์ ชัยนาท เจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสักแน่ๆ ฉะนั้นต้องทำอย่างเร็ว ดังนั้นตอนนี้ไซยาไนด์อาจเป็นมาตรการหรือทางเลือกสุดท้ายที่นำมาใช้ วิธีการนี้อาจจะดูโหดร้ายแต่มันเด็ดขาด ทำได้จริง เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข
1.เป็นพื้นที่ระบาดหนัก
2.มีการปิดกั้นพื้นที่ต้นน้ำ ปลายน้ำ แล้วใช้แค่พื้นที่ตรงนั้น
3.ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขควบคุมเฉพาะเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
4.วิธีนี้อาจทำให้ปลาไทยตาย แต่จะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ไม่ยาก

“หากถามว่าสารเคมีจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำหรือไม่ ก็ไม่น่าห่วงเลย เพราะไซยาไนด์พบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว” อย่างมะม่วงที่กำลังเน่าก็มีไซยาไนด์ หรือมันสำปะหลังก็มี ซึ่งโครงสร้างของไซยาไนด์เป็นประจุลบ เมื่อเจอประจุบวกก็หายไป เพียงต้องศึกษาว่าปริมาณแค่ไหนที่จะเหมาะสมกับพื้นที่ที่ดำเนินการ แล้วระยะเวลาปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปที่จะเติมพันธุ์ปลาแล้วฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

“เมื่อเรามองมันไม่เห็น ในการที่จะบอกว่าประชาชนจะต้องทำอย่างไร มีทางเดียวเท่านั้น ก็คือเจอตัวมันเมื่อไหร่ เอาตัวขึ้นมา ฆ่ามันให้ตายเท่านั้น ทางเดียวเท่านั้นจริงๆ” ซึ่งหลายคนก็บอกว่าจัดการลงไซยาไนด์ทั้งลุ่มน้ำเลยแล้วค่อยฟื้นฟูกันใหม่ ก็ได้เลยครับ เป็นกำลังความคิดของคนไทยทุกคนมาช่วยกันในการหาทางออก โหดไปไหมก็โหด แต่ถ้าเราจัดการบล็อกมันให้ดี รู้ว่าตำแหน่งนี้สิ้นสุดแล้ว ไม่มีแล้ว โดยเฉพาะทางต้นน้ำ ที่น้ำไหลจากบนลงล่างอยู่แล้ว ลงมาถึงปลายน้ำ ก็ยอมเลยตรงนี้ลงพรึ่บเลย

“ไซยาไนด์มันเป็นประจุลบ เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่เขาฉีดไซยาไนด์ ก็จะใช้สารที่มีประจุบวก ซึ่งเมื่อจับปลามาได้ก็เอามาใส่ในถังที่เป็นเหล็กที่มีประจุบวกในการแลกเปลี่ยน ไซยาไนด์จะไปจับที่เหงือกของปลา บล็อกไม่ให้มันหายใจ เมื่อไหร่ที่ดึงไซยาไนด์ออกจากเหงือกก็จะหายใจต่อไปได้ เพราะฉะนั้นตัวไซยาไนด์เมื่อไหร่ที่เจอประจุบวก ก็จะสูญสลายไป ตรงนี้ก็ไม่ต้องไปกลัวว่าจะมีผลกระทบ”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @เรื่องเด่นเย็นนี้,@3PlusNews