คณะสงฆ์จังหวัดน่าน วัดป่านันทบุรีญาณสังวราราม และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดน่าน ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 ร่วมกันจัดโครงการโรงเรียนทักษะชีวิตบนวิถีกิจวัตร kondee model (คนดีโมเดล) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสืบสานรักษาและต่อยอดเอกลักษณ์ท้องถิ่นบนฐานธรรมให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้มีการนำทักษะชีวิตมาใช้ในชีวิตประจำวันในครอบครัวและชุมชนได้อย่างเหมาะสม สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นต่อไป โดยนำร่องในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านผาตูบ และโรงเรียนบ้านผาสิงห์ ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน ระหว่างวันที่ 27 ก.ค.-28 ก.ย. 2567 ณ วัดป่านันทบุรีญาณสังวราราม พระครูกิตติจันทโรภาส เจ้าคณะอำเภอเมืองน่าน (ธ) เจ้าอาวาสวัดป่านันทบุรีญาณสังวราราม กล่าวเจริญพรถึงโครงการ ว่าได้ตระหนักถึงปัญหาของเด็กและเยาวชน เด็กไทยส่วนใหญ่เรียนแบบท่องจำ ทำให้เด็กไทยขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อประกอบกับเด็กไทยยังขาดทักษะชีวิต เห็นได้จากกรณีท้องก่อนวัยอันควร ปัญหายาเสพติด ติดการพนัน ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ เราจะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงด้านจิตใจ และเห็นคุณค่าในตัวเองได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทักษะของเด็กและเยาวชนที่จะเรียนรู้อะไร คุณลักษณะและทักษะชีวิตในการดำรงชีวิตที่พึงประสงค์พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอนามัยด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคุณธรรมจริยธรรมค่านิยม จึงจัดโครงการโรงเรียนทักษะชีวิต ซึ่งจะเข้ามาเสริมสร้างทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยในการปรับตัวกับปัญหาต่างๆรอบตัวสร้างความภูมิใจในตนเองความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมสามารถตระหนักรู้ในตนเอง มีความเห็นใจผู้อื่นรวมไปถึงทักษะการศึกษาและสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น สามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหา และจัดการกับอารมณ์และความเครียดได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากความสามารถในการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ที่จะเพิ่มความสามารถของเด็กและเยาวชนในการอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยให้กลุ่มเป้าหมายได้ฝึกคิด ทำ จำ แก้ปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตทั้ง 10 ประการ ได้แก่ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทักษะการตระหนักรู้ในตน ทักษะการเข้าใจผู้อื่นทักษะการจัดการกับอารมณ์ และทักษะการจัดการกับความเครียด ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนมีพื้นฐานทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมได้