พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจัดรัฐพิธีศพ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์เวียดนาม ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือเป็นการไว้อาลัย และการฝังร่างของนายเหวียน ฝู จ่อง เกิดขึ้นที่สุสานแห่งชาติ ในกรุงฮานอย ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และนักการเมืองระดับสูงหลายคนของเวียดนาม

แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามระบุด้วยว่า การจากไปของนายเหวียน ฝู จ่อง “คือความสูญเสียครั้งใหญ่ของพรรค รัฐ ประชาชน และครอบครัวของผู้วายชนม์” โดยนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลทหาร ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา “ด้วยโรคชราและโรคประจำตัวที่ต้องต่อสู้มานาน” รวมอายุได้ 80 ปี

ทั้งนี้ นายเหวียนฝู จ่อง เป็นนักการเมืองคนแรกในประวัติศาสตร์ของเวียดนามซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง3 อันดับแรกโดยก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นายเหวียน ฝู จ่องเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและประธานสภาแห่งชาติ

พิธีไว้อาลัยนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่สุสานแห่งชาติ ในกรุงฮานอย

นอกจากนั้น นายเหวียน ฝู จ่อง เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนที่สอง ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมขณะอยู่ในตำแหน่ง ต่อจากนายเล สวน เลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์เวียดนาม และสหายคนสนิทของประธานโฮ จิ มินห์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2529 ด้วยวัย 79 ปี

อนึ่ง เวียดนามไม่มีตำแหน่ง “ประมุข” หรือ “ผู้นำสูงสุด” อย่างเป็นทางการ โดยแบ่งตำแหน่งออกเป็น “4 อันดับ” หรือ 4 ขั้น ไล่เรียงความมีอำนาจและอิทธิพลจาก เลขาธิการพรรค ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานสภาแห่งชาติ

แน่นอนว่า การจากไปของนายเหวียน ฝู จ่อง สร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พลวัตการเมือง และสังคมของเวียดนามเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากการคอร์รัปชัน รัฐบาลต่างประเทศและองค์กรนานาประเทศ ตลอดจนมุมมองของชาวเวียดนามเองมองการทุจริตภายในประเทศ คือวิกฤติเรื้อรังซึ่งต้องเร่งปราบปราม

พล.ต.อ.โต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ควบตำแหน่งรักษาการเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย

ดังนั้น เพื่อรักษาความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อระบบพรรคการเมืองเดียว จึงไม่เหนือความคาดหมายมากนักที่แคมเปญต่อต้านการคอร์รัปชันในเวียดนาม จึงมีความเข้มข้นในระดับที่รัฐบาลประกาศให้เป็น “สงครามภายใน”

นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองภายในเวียดนามที่กำลังสั่นคลอน เนื่องจากขาดเสาหลักอย่างกะทันหัน และการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งต่อไปต้องรอจนถึงปี 2569 สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกภาคส่วน เกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเดินหน้าแคมเปญต่อต้านการทุจริต ตั้งแต่ปี 2559 และยกระดับอย่างต่อเนื่อง จนมีความเข้มข้นสูงสุด เมื่อปี 2566 โดยมีการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับล่างสุดไปจนถึงระดับสูงสุด 2,276 คน เพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็น 839 คดี

ขณะที่ภาคเอกชนถูกกวาดล้างอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีของ นางเจือง มี ลัน ประธานบริษัท วัน ติ๋ญ ฟ้าด ซึ่งศาลพิพากษาเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ให้เธอรับโทษประหารชีวิต จากความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกเงิน จากธนาคารไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล แบงก์ ( เอสซีบี ) ด้วยการล่อลวงให้ลงทุนในพันธบัตร ตลอดระยะเวลานานกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตามคำฟ้อง อยู่ที่ราว 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 453,125 ล้านบาท ) และมีผู้เสียหายมากกว่า 40,000 คน อย่างไรก็ตาม อัยการกล่าวว่า หากคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 978,750 ล้านบาท ) เทียบเท่า 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของเวียดนาม เมื่อปี 2566

นางเจือง มี ลัน ขึ้นศาลที่เมืองโฮจิมินห์ ทางตอนใต้ของเวียดนาม เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา

2566 เป็นปีซึ่งเศรษฐกิจของเวียดนามเผชิญกับความยากลำบาก ด้วยอัตราการเติบโตเพียง 5% อย่างไรก็ดี รัฐบาลเวียดนามกำหนดเป้าหมาย ให้เศรษฐกิจของปีนี้เติบโตถึงระดับ 6% ซึ่งสถานการณ์นับตั้งแต่ต้นปีนี้บ่งชี้ว่า เป็นช่วงเวลาของการฟื้นตัว โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.7% เมื่อไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากสถิติ 3.4% เมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ลดลง เพิ่มความหวังให้กับเวียดนาม ว่าการส่งออกของประเทศจะกลับมาฟื้นตัวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงต้องระมัดระวังอย่างสูง เพื่อลดโอกาสให้กับตัวเอง จากการต้องเผชิญกับความเสี่ยงขาลง ที่ยังคงมีแนวโน้มระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดแรงงานภายในประเทศซึ่งยังคงชะลอตัว และรายได้ครัวเรือนซึ่งยังคงซบเซา และยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นมากนัก หมายความว่า บรรยากาศการบริโภคภายในประเทศยังอ่อนแอ กอรปกับกรณีอื้อฉาวในภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ จะยังคงมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ มาตรการกวาดล้างการคอร์รัปชันของเวียดนาม สั่นคลอนตั้งแต่ยอดพีระมิดลงมาจนถึงฐาน การลาออกของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่วตามด้วยการที่ทุกคน “หายเข้ากลีบเมฆ” ไปนับจากนั้น สร้างความหวาดหวั่นให้กับเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ซึ่งลังเลที่จะจัดการงานเอกสารหลายอย่าง ทำให้โครงการของภาครัฐต้องหยุดชะงัก หรือไม่คืบหน้าไปโดยปริยาย

แม่ค้าชาวเวียดนามจูงจักรยานขายขนม บนถนนสายหนึ่ง ในกรุงฮานอย

แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) ธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย ( เอดีบี ) ให้ความเห็นไปทางเดียวกัน ว่าการเร่งการลงทุนสาธารณะ “คือกุญแจสำคัญ” ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเวียดนาม ในช่วงระยะสั้นและระยะกลาง แต่ความหวาดกลัวต่อบรรยากาศการเมืองภายใน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจกับการตัดสินใจใช้งบประมาณ โดยมีการใช้จ่ายงบประมาณไปเพียง 22.3% ระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค. ที่ผ่านมา ภาวะดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเป็นหนึ่งในประเทศอยู่ในภูมิภาคซึ่งต้องแสวงหาความสมดุล ท่ามกลางภูมิศาสตร์การเมืองที่ตึงเครียด เวียดนามน่าจะยังคงขับเคลื่อนนโยบายบนพื้นฐานของ “ความมั่นคงและยืดหยุ่น” ต่อไปได้ และจะยังคงรักษาสถานะของตัวเองในฐานะ “ประเทศมีอิทธิพลระดับกลาง” และกลมกลืนกับกลไกพหุภาคีของโลกได้อย่างกลมกลืนต่อไป

ส่วนวิกฤติการเมืองภายในเวียดนาม ที่กัดเซาะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พรรคคอมมิวนิสต์น่าจะยังคงควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ และประคองให้มีเสถียรภาพมากที่สุด จนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งต่อไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP