ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT UNINET ครั้งที่ 4 เวทีผู้บริหารด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT UNINET จาก 3 กลุ่มประเทศ โดยมี ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ประสานงาน IMT-GT UNINET ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุม ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ Honorable DATUK DR. SHAHRIN BIN SAHIB, Chairman of IMT-GT University Network UNINET, ดาตุ๊ก ด็อกเตอร์ ชาห์ริน บิน ซาฮิบ ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT UNINET Honorable MR. AMRI BUKHAIRI BAKHTIAR, Director of Centre for IMT-GT Subregional Cooperation (CIMT), มิสเตอร์ อัมรี บูคไครี บัคเทียร์ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT-GT (CIMT) ตลอดจน เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT UNINET จาก 3 กลุ่มประเทศ เข้าร่วม ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 67


ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ ผู้ประสานงาน IMT-GT UNINET ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT ครั้งที่ 4 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นับได้ว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และยังเป็นวิทยาเขตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือข่าย IMT-GT UNINET ให้สามารถบรรลุตามเป้าประสงค์ การประชุมสภาเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ได้กำหนดรูปแบบสำคัญ สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อพัฒนาภาคการศึกษาในเครือข่าย IMT-GT UNINET ซึ่งมีผู้บริหารจากสถาบันการศึกษากว่า 30 แห่งจาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่ทำงานร่วมกันตามวิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งหวังจะบรรลุผลลัพธ์ที่สำคัญสำหรับผู้คนในภูมิภาคและประเทศของเครือข่าย IMT-GT

ด้าน ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการประชุมในครั้งนี้ สามารถช่วยกระชับความร่วมมือได้ระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือข่าย IMT-GT กลยุทธ์การเติบโตที่สำคัญภายใต้ IMT-GT ในการยกระดับเศรษฐกิจการพัฒนาในอนุภูมิภาคและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างแท้จริง ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปาฐกถาพิเศษจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง “Enhance Human Economic and, Community Capital for Sustainability –มีโมเดลที่พัฒนามาจากโครงการแก้จน จังหวัดปัตตานี โดย ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี การนำเสนอรายงานความคืบหน้าโครงการ Implementation Blueprint (IB) ปี 2022-2026 โดยประธานเครือข่าย IMT-GT UNINET ตลอดจนประเทศสมาชิกรายงานผลการประชุม หัวข้อ ความคืบหน้าของกิจกรรม UNINET โครงร่างสำหรับโครงการใหม่ UNINET และปฏิทินกิจกรรม UNINET


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในเครือข่าย IMT-GT UNINET ได้รับการเสนอชื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานฝ่ายไทย ระหว่างปี 2565-2568 ภายใต้เครือขาย IMT-GT UNINET ได้มีกำหนดจัด IMT-GT University Network (UNINET) Council Meeting หมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง รวม 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2560 และในคราวประชุม “29th MINISTERIAL MEETING IMT-GT: IMT-GT UNIVERSITY NETWORK (UNINET)” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ณ Universitas Maritim Raja Ali Haji, Kepulauan, Riau สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ประชุมมีมติให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุม “The 4th Council Meeting of IMT-GT UNIVERSITY NETWORK (UNINET)” จึงได้กำหนดจัดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการกำหนดนโยบายแผนปฏิบัติงานเชิงกลยุทธ์ การประเมินผลการปฎิบัติงาน การติดตามผลการดําเนินงาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาภาคสวน การศึกษาของมหาวิทยาลัยภายใต้เครือข่าย IMT-GT UNINET