ซึ่งเป็นนํ้ามันที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ออกมาสนับสนุนให้ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานหรือนํ้ามันเจ็ทที่ผลิตจากฟอสซิลด้วยการใช้ SAF ในสัดส่วนที่เหมาะสมภายในปี 2050 ด้วยเช่นกัน ซึ่ง SAF เป็นนํ้ามันที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับนํ้ามันเจ็ทที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตจากนํ้ามันทำอาหารที่ใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตรและขยะเทศบาล เช่น บรรจุภัณฑ์ และเศษอาหาร
“ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก หรือโออาร์ ได้ร่วมกับ “วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน เวียตเจ็ทไทยแลนด์ เปิดเที่ยวบินนำร่องของ การให้บริการเติมนํ้ามันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เส้นทาง กรุงเทพฯ-ดานัง โดย “ดิษทัต” ระบุว่า โออาร์ได้จัดหาและให้บริการนํ้ามันเชื้อเพลิง SAF ให้กับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของเวียตเจ็ทไทยแลนด์ เส้นทาง กรุงเทพฯ-ดานัง เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการร่วมลงมือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
โดยนํ้ามัน SAF สำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ผู้ผลิตโดยบริษัท Neste ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนชั้นนำของโลก และ บมจ. ปตท. ค้าสากล บริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมกับ บริษัท PETCO TRADING LABUAN COMPANY LIMITED (PTLCL) ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้จัดหาและนำเข้า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการผลิตนํ้ามัน SAF
อย่างไรก็ตามขณะนี้กลุ่ม ปตท. เตรียมการผลิตนํ้ามัน SAF ขึ้นในประเทศ โดย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จีซี) มีการปรับยูนิตโรงกลั่นนํ้ามันเพื่อรองรับการผลิตนํ้ามัน SAF ใช้วัตถุดิบจากนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 68 มีกำลังการผลิตเบื้องต้น 6 ล้านลิตรต่อปี โดย SAF ที่ผลิตได้เป็นไปตามมาตรฐาน ASTM 1665 เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ช่วยเพิ่มพันธมิตรให้กับ OR ในการป้อนนํ้ามัน SAF ให้สายการบินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน OR ได้จำหน่ายนํ้ามัน SAF ให้สายการบิน 3 รายคือ การบินไทย (THAI) บางกอกแอร์เวย์ส (BA) และเวียตเจ็ทไทยแลนด์
สำหรับช่องทางการจัดหานํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วในประเทศไทย OR มีช่องทาง Eco System ที่เรามีการขายก๊าซหุงต้ม (LPG)ให้บ้านเรือนและร้านอาหารโดยจะขอรับซื้อนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วโดยวางเป้าหมายในปี 2573 OR จะเป็นผู้นำในการซัพพลายนํ้ามัน SAF
ด้าน “วรเนติ” ขยายความว่า เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนในวันนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของเวียตเจ็ทไทยแลนด์และเวียตเจ็ทกรุ๊ปที่มุ่งมั่นทำตามภารกิจเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นการตอกยํ้าความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกิจกรรมนี้ไม่เพียงตอกยํ้าความเป็นเลิศในการปฏิบัติการบินแต่ยังเป็นไปตามนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพนี้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายระดับโลกที่ตั้งขึ้นโดย ICAO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินปัจจุบันเวียตเจ็ทไทยแลนด์เป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2563 เปิดให้บริการครอบคลุม 11 เส้นทางบินภายในประเทศได้แก่ เส้นทางบินจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)สู่เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต กระบี่ อุดรธานีหาดใหญ่ ขอนแก่น อุบลราชธานีและสุราษฎร์ธานี รวมถึงเส้นทางบินข้ามภูมิภาคจากภูเก็ตสู่เชียงใหม่และเชียงราย พร้อมกันนี้สายการบินฯได้ขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศสู่หลากหลายจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเชื่อมต่อประเทศไทยกับเวียดนาม จีน สิงคโปร์ กัมพูชา ญี่ปุ่นไทเป และอีกหลายจุดหมายปลายทางทั่วทั้งภูมิภาค.