โดยจากข้อมูลจากรายงานอนาคตการเติบโต The Future of Growth 2024 ของ World Economic Forum พบว่า คะแนนด้านความยั่งยืน (Sustain ability) ของประเทศไทยอยู่ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยโลก และตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและภาคชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
เรื่องนี้ “ณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่การเพิ่มผลกำไร หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต้องหันกลับมาสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย MIND 4 มิติ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ยึดถือในหลักการใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมเคียงคู่ชุมชน ประกอบด้วย
มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ โดยการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพ หรือ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเหมาะสมกับโลกอนาคต มิติที่ 2 การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน สังคม และสถานประกอบการ หรือโรงงานให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก ด้วยกลไก การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับส่งเสริมสถานประกอบการ หรือโรงงานด้วยหลักการ BCG และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้กับประชาชน เพื่อชีวิตความ
เป็นอยู่ที่ดีขึ้น มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ สร้างประโยชน์และพัฒนาชุมชนรอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ได้เน้นพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ Smart Factory ใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต ตัวอย่างเช่น การนำระบบ IoT ใช้ในโรงงานช่วยให้สามารถตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและการรั่วไหลของสารเคมี การใช้ระบบ AI และ Machine Learning ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ความเสี่ยงล่วงหน้า ทำให้สามารถป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น การใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อติดตาม และตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตทั้งหมด การใช้ระบบพลังงานสะอาดและการจัดการของเสียอัจฉริยะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การกระตุ้นอุปสงค์สำหรับภาคอุตสาหกรรมในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้ให้คำปรึกษาในการปรับปรุงกระบวนการผลิต การพัฒนามาตรฐาน System Integrator และ System Analytic พัฒนาทักษะสำหรับบุคลากร การพัฒนา Industrial Data Analytic and Collaboration Platform เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิต หน่วยงานรัฐ และสถาบันการเงิน พร้อมการสนับสนุนมาตรการทางภาษี 100% สำหรับการลงทุนในเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ โดยในปี 65 มีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทยประมาณ 3,313 ตัว คิดเป็นอับดับที่ 14 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียน
นอกจากนี้ยังเร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพิ่มผลิตผลการผลิตและยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้เซ็นเซอร์ตรวจสอบติดตามเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต หรือตรวจวัดมลพิษแบบ Real Time พัฒนาระบบการแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่ผิดปกติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถติดตามเหตุการณ์และควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ.