เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการดำเนินการของศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (BFMCC) ว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์ BFMCC มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 ซึ่ง กทม. เปิดมาเพื่อช่วยประสานงาน และอำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่เมือง ที่ผ่านมาปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องของระยะเวลา ถ้าหากสถานที่ที่ขออนุญาตถ่ายทำ เป็นสถานที่ที่อยู่นอกหน่วยงานของ กทม. ต้องข้ามหน่วยงาน ต้องใช้การประสานงานที่มากขึ้น
ขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำลังจะรวมหน่วยงาน เช่น ตำรวจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยที่เป็นเจ้าของสถานที่ราชการต่างๆ ให้มารวมกัน และให้มีระยะเวลาในการดำเนินการเท่าๆ กันตั้งแต่รับเรื่องจนถึงเสร็จขั้นตอน โดยในส่วนของ กทม. ปัจจุบันใช้เวลา 7 วัน ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และได้คำตอบกลับมาไม่เกิน 7 วันเช่นเดียวกัน
“ยกตัวอย่างเช่น หากมีกองถ่ายติดต่อมาจะถ่ายทำในถนนเยาวราช โดยใช้ถนน ใช้ทางเท้าในการถ่ายทำ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำภายใน 7 วัน ซึ่งตรงนี้เป็นมาตรฐานที่กำลังพูดคุยกันอยู่ แต่ในส่วนของ กทม.นั้น ขณะนี้ทำได้แล้วในระยะเวลา 7 วัน ส่วนการส่งเรื่องขอใช้สถานที่ ปัจจุบันนี้ส่งเรื่องทางอีเมลจะรวดเร็วที่สุด เพราะในอีเมลสามารถเขียนรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ได้มากที่สุด และเรามีเจ้าหน้าที่ในการเช็กอีเมลทุกวัน และมีการประสานงานกลับ เพื่อเช็กข้อมูลรายละเอียดที่ถูกต้องกับผู้ที่ยื่นเรื่องขอมา แต่ในอนาคต กทม.อยู่ระหว่างพัฒนาเว็บไซต์ ให้สามารถกรอกข้อมูลรายละเอียดเข้าไปได้และเชื่อมต่อกับระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ในการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้” นายศานนท์กล่าว
นายศานนท์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กทม.ทำงานร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในการแจ้งข้อมูลไปยังกลุ่มคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแวดวงที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าต้องการใช้พื้นที่ใน กทม.ถ่ายทำ ก็ติดต่อยื่นเรื่องมาที่ศูนย์ได้ โดยตั้งแต่เปิดศูนย์ในเดือน พ.ย.-มิ.ย. 67 มีกองถ่ายให้ความสนใจในการยื่นเรื่องมา เพื่อขออนุญาตถ่ายทำในพื้นที่ กทม.แล้ว 64 กองถ่าย 157 เรื่องที่ได้รับการอนุญาต โดยแบ่งเป็นกองถ่ายจากต่างประเทศ 15 กองถ่าย กองถ่ายไทย 49 กองถ่าย ถ้าแบ่งเป็นตามประเภทสื่อ ก็จะมีโฆษณา 5 เรื่อง สื่อภาพยนต์ 22 เรื่อง มิวสิกวิดีโอ 8 เรื่อง มีละคร/ซีรีส์ 5 เรื่อง สารคดี 9 เรื่อง และอื่นๆ 15 เรื่อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าถือว่าประสบความสำเร็จไหม นายศานนท์ กล่าวว่า สำหรับตนนั้นถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ว่าอย่างที่บอกว่า กทม.เป็นเจ้าของสถานที่น้อยมาก เพราะอย่างเช่นถนน ก็ต้องประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกองถ่ายทำส่วนใหญ่ก็ต้องถ่ายถนน เป็นต้น
ซึ่ง กทม.อยากจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้มากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ฯ ของรัฐบาลเข้ามาช่วยยกระดับศูนย์ BFMCC ให้เป็น ศูนย์ BFMCC พลัส โดยจะไปพลัสหน่วยงานอื่นๆ ให้
ทั้งนี้ผู้ขออนุญาต (กองถ่าย) สามารถขออนุญาตได้ตามช่องทาง ดังนี้ ศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ อาคารทำการส่วนการท่องเที่ยว (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) เลขที่ 17/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 0 2225 7615 E-mail: [email protected].