นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 64 ว่า อยู่ที่ระดับ 79.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 76.8 ในเดือนส.ค. 64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 เนื่องจากมีปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
พร้อมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทรวมถึงห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางดีขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรมลดลงจากการใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ มาจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและทำให้การขนส่งล่าช้า ขณะที่ปัญหาความล่าช้าของเรือสินค้าทำให้การส่งออกสินค้าไม่ได้ตามกำหนด รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง และปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯ ยังไม่คลี่คลาย โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น คือ ราคาน้ำมัน มีสัดส่วน 65.2% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสัดส่วน 45.3%
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้เสนอแนะให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งแก้ปัญหายั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ, ขอให้ภาครัฐดูแลราคาพลังงาน และราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม, ขอให้ภาครัฐดำเนินนโยบายที่มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางธุรกิจมากขึ้น และบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้, ขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศและเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ และขอให้ภาครัฐขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีประจำเดือน ก.ย.ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 35.9 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ส.ค. ที่ระดับ 31.9 สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี หลังวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 เนื่อจากผลจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ/เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการผ่อนคลายมาตรการให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น แต่ค่าดัชนียังต่ำจากระดับค่าฐาน ที่ 50 อยู่มาก ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ยังมีความกังวลต่อภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากก่อนหน้าก็ตาม
อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการเอสเอ็มอี 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ 2. ด้านการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ 3. ด้านต้นทุน 4. ด้านคู่แข่งขัน และ 5. ด้านหนี้สินกิจการ แม้ในเดือนปัจจุบันจะมีการออกมาใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งจากการชะลอตัวของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงด้านความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ และมีความกังวลด้านต้นทุนกิจการที่มีสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในหลายรายการ