รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างเร่งจัดทำป้ายตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และป้ายชื่อสะพาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานพระราม 9 ว่า ทศมราชัน อ่านว่า ทด-สะ-มะ-รา-ชัน (Thotsamarachan) หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 โดยจะนำตราสัญลักษณ์มาประดับไว้เหนือสะพานทั้ง2 ด้าน ซึ่งทาง กทพ. จัดพื้นที่เตรียมรองรับไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนป้ายชื่อสะพานจะติดตั้งไว้บริเวณเสาของสะพานทั้ง 2 ด้านเช่นเดียวกัน โดยอยู่สูงกว่าระดับที่รถยนต์วิ่ง ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำป้าย พร้อมติดตั้งแล้วเสร็จประมาณเดือน ต.ค. 67
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ กทพ. จะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จากนั้นจะเปิดใช้สะพานทศมราชันอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 67 ปรับจากแผนเดิมก่อนหน้านี้ที่จะเปิดให้บริการในเดือน ก.ค. 67 อย่างไรก็ตาม สำหรับสะพานทศมราชัน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ที่อยู่ในงานก่อสร้างสัญญาที่ 4 สะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของ กทพ. มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง
นับเป็นไฮไลต์สำคัญของโครงการฯ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่เดือน เม.ย. 66 แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการสะพานก่อนได้ ปัจจุบันผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี เป็นผู้รับจ้าง อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสะพานบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ซึ่งภาพรวมการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ ตัวพื้นทางเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงติดตั้งองค์ประกอบของการก่อสร้างอีกเล็กน้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จทันก่อนเป้าหมายการเปิดให้บริการสะพานทศมราชันปลายปี 67
สำหรับสะพานทศมราชัน มีการออกแบบไว้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความสวยงามของสะพานพระราม 9 มีความสูงใกล้เคียงกัน ประมาณ 130 เมตรจากพื้นดินถึงยอดเสา มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย 42 เมตร มีความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร และมีความยาวสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สิ้นสุดโครงการฯ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ โดยจะเชื่อมต่อกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัช ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร (กม.)
เมื่อเปิดให้บริการสะพานทศมราชัน จะรองรับปริมาณการจราจรได้วันละ 1.5 แสนคันต่อวัน ช่วยให้การเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอก และชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก มุ่งสู่ภาคใต้ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงยังช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จากปัจจุบันปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน หรือลดลง 25% และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวง (ทล.) ได้ด้วย ทั้งนี้ กทพ. มีกำหนดเปิดให้บริการโครงการฯตลอดเส้นทาง 18.7 กม. ประมาณเดือน มิ.ย. 68.