ดร.ธีรศักดิ์ จำนงค์เนียร รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ยะลา ปฏิบัติราชการแทน ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่างทอง กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมรภ.สวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสพฐ. (1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่จุดอบรม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่างทอง โรงเรียนสตรีอ่างทอง และโรงเรียนวิเศษไชยชาญ (ตันติวิทยาภูมิ) โดยมีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 451 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

ดร.ธีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าการเข้ามาขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนอย่างมาก เพราะจะทำให้ครูได้ความรู้จากวิทยากร ซึ่งครูก็จะนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้กับเด็กในห้องเรียน และสุดท้ายผลก็จะส่งถึงนักเรียนเต็มๆ เพราะจากการประเมินการเรียนการสอนด้วย Active Learning เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะยาก กลาง หรือ ง่าย ถ้าเด็กได้ลงมือทำปฏิบัติจริงก็จะเกิดความเข้าใจที่คงทนจนเกิดทักษะที่จะใช้ในการดำรงชีพในอนาคต ทั้งนี้คนในวงการศึกษาจะรู้ดีว่า ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง โรงเรียนที่มีความพร้อมก็จะอุดมไปด้วยผู้เรียนที่แข่งขันกันเข้าไปเรียน แต่โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมจะไปโรงเรียนที่ผู้ปกครองอาจจะไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น จนกระทั่งปัญหาที่เกิดตามมา คือ การปิดตัวของโรงเรียน เพราะฉะนั้นโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เป็นโครงการที่ดีที่จะพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่แต่ละอำเภอให้มีความพร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธา ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งเสริมลูกหลานเข้ามาเรียน และสุดท้ายก็จะส่งผลถึงคุณภาพของเด็กในอนาคต

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่พบว่า ครูมีความตั้งใจมากขึ้นในการเข้ารับการอบรม เพราะเห็นภาพแล้วนึกออกว่า ที่เคยสอนมาในอดีตเป็นอย่างไรกับแนวทางที่จะพลิกโฉมการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร และมองเห็นขั้นตอนต่างๆ ที่จะพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ไปจนถึงการสร้างผลผลิตและนวัตกรรมได้ ถือเป็นการตอบรับอย่างดีและเกิดกระแสที่โรงเรียนต้องการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นหลักสูตรที่นำมาตรฐานมาจากสหรัฐอเมริกา และประเทศชั้นนำในยุโรป ซึ่งตอนที่นำมาตรฐานมาใช้ประเทศเหล่านั้นก็ได้มีการวิจัยก่อนนำมาใช้ 15 ปี เพราะฉะนั้นมาตรฐานจึงสูงมาก ทำให้มีการนำเสนอให้ครูเห็นว่ามาตรฐานเป็นการประเมินความสามารถโดยการแสดงออกของผู้เรียนในการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นการท่องจำแล้วสอบได้ ดังนั้นการที่ประเทศไทยกำลังพลิกโฉมการศึกษาแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นการมาถูกทางแล้ว

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะโครงการอบรมครั้งนี้ ที่มอบหมายให้ มรภ.สวนสุนันทาดำเนินการ เพราะเป้าหมายตามหลักสูตรกำหนดมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่โรงเรียนยังมาไม่ถึง เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เด็กพึงได้รับ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เด็กจะได้รับการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามที่มาตรฐานหลักสูตรกำหนดให้เด็กมีความสามารถในการแสดงออกอย่างแท้จริง มีความสามารถในการคิด การประเมินการลงมือปฏิบัติสร้างผลผลิตชิ้นงานไปจนถึงสร้างนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ในท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือ ความรู้ที่เป็นกระบวนการซึ่งเป็นความรู้ที่รู้จากเนื้อหาและจะติดตัวผู้เรียนเอาไปใช้เรียนรู้ต่อเนื่องได้ทุกระดับจนจบมหาวิทยาลัย และไปประกอบอาชีพทำงานได้ตลอดชีวิต สามารถยกระดับชีวิตของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นได้ เพราะกระบวนการที่มรภ.สวนสุนันทาวางไว้ เป็นกระบวนการที่เป็นแก่นแท้ของหลักสูตรที่แท้จริง

ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า จากการที่มรภ.สวนสุนันทาร่วมกับ สพฐ.จัดอบรมครูต้นแบบในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดต่างๆ ถือว่าได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เพราะครูที่เข้ารับการอบรมจะได้รับเครื่องมือช่วยสอน  กระบวนการคิดของครูเปลี่ยน และกระบวนการสอนก็เปลี่ยน สามารถนำกลับไปใช้สอนในห้องเรียนและใช้กับเด็กได้โดยตรง เพราะฉะนั้นกระบวนการของการอบรมที่จัดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน และผลลัพธ์ก็เกิดกับผู้เรียนที่จะสามารถไปต่อยอดสร้างเป็นชิ้นงานได้ และถ้าเป็นไปได้อยากให้ขยายผลไปในภาคอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามตอนนี้เป็นระยะที่ 2 ของการอบรม คือ การลงมาอบรมในพื้นที่ ซึ่งต่อจากนี้ก็จะเป็นระยะที่ 3  คือ การลงไปประเมินว่า ครูที่เข้ารับการอบรมมาแล้วจะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด ผู้เรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างไร โดยครูเหล่านี้ก็จะพัฒนามาเป็นครูต้นแบบของ สพฐ.ต่อไปด้วย