ในที่สุดตระกูล”อยู่บำรุง”ก็ตัดสินใจทางการเมือง จอดป้ายที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) หลัง “นายวัน อยู่บำรุง “ บุตรชายร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยื่นใบลาออกจากพรรคเพื่อไทย(พท.) เนื่องจากไม่พอใจที่ถูก”อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคพท.เรียกไปตำหนิหลังปรากฎภาพไปปรากฏตัวที่บ้าน”บิ๊กแจ๊ส”พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ปทุมธานี ระหว่างการนับคะแนนเลือกนายกอบจ.ปทุมธานี เพราะพรรคพท. ให้การสนับสนุน”นายชาญ พวงเพ็ชร์”
ขณะที่”ร.ต.อ.เฉลิม” ก็ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุตรชาย ท้าให้พรรคพท.ขับออกจากพรรค จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค.68 มีรายงานว่า “ ร.ต.อ.เฉลิม”ได้เข้าพบหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “หัวหน้าพรรคพปชร. ที่บ้านป่ารอยต่อ เพื่อพูดคุยกันถึงสถานการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เชิญให้ ร.ต.อ.เฉลิม ย้ายไปอยู่ด้วยกันในพรรคพปชร.ซึ่งร.ต.อ.เฉลิม ได้ตอบตกลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม ยังย้ายไปร่วมไม่ได้ในขณะนี้เพราะยังเป็น สส.พรรคพท. แต่ถ้าพรรคมีมติขับก็จะย้ายไปอยู่ในทันที
ร.ต.อ. เฉลิม เปิดเผยต่อมาว่า รู้จักพล.อ.ประวิตร มานานกว่า 30 ปี โดยไม่ได้ร้องขอตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งบุตรชายตนนายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.กทม.พรรคพท.ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคพท.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เตรียมจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร.ในสัปดาห์หน้า โดยจะพานายอาชวิน อยู่บำรุงหรือ”กาโม่” หลานชายของตน ไปอยู่กับพรรคพปชร.ด้วยเช่นกัน โดย”นายวัน “จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร. วันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเป็นวันประชุมพรรคพปชร. โดยจะให้สัมภาษณ์ทุกเรื่อง รวมถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม เดินทางเข้าบ้านป่ารอยต่อฯ ไปพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร คงต้องรอมีวลีเด็ดๆและข้อมูลลึกๆออกมาเปิดเผยหรือไม่ เพราะต้องยอมรับการลาออกจากพรรคต้นสังกัดเดิม ก็ดูเหมือนจะจากกันไปในแบบไม่ค่อยดี โดยนายวัน ได้เรียกร้องให้พรรคพท.ทบทวนการทำงานด้วย หลังสนามกทม.เหลือเพียงสส.คนเดียว
ขณะที่เฟซบุ๊กนายวันได้โพสต์ถึง “ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”ว่า “ใจถึงพึ่งได้” แม้”ตระกูลอยู่บำรุง”จะมีสส.อยู่ในก๊วนไม่กี่คน แต่ก็ถือว่ามีแสงในตัวทุกความเคลื่อนไหวสังคมให้ความสนใจ ดังนั้นต้องรอดู “ร.ต.อ.เฉลิม”จะสร้างเงื่อนไขทางการเมืองอย่างไร เพื่อให้ถูกขับออกหรือไม่ และต้องรอดู”อุ๊งอิ๊ง” จะตั้งรับกับการเคลื่อนไหวของ”อยู่บำรุง”อย่างไร เพราะเชื่อว่า ด้วยอายุและสังขาร “ร.ต.อ.เฉลิม“ คงไม่รอให้ สภาผู้แทนราษฎรต้องครบวาระแน่ๆ เพราะเหลือกว่าอีก 3 ปี คงพยายามสลัดภาพความเป็นพท.ให้ได้ ก่อนไปเริ่มตำนานบทใหม่กับ”พปชร.” ถือเป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ที่มีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ออกมาแสดงจุดยืนถึง เนื้อหาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งในสัปดาห์หน้า คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจจะมีบทสรุปจะล้างผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 110 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเนื้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
“นายธนกร วังบุญคงชนะ” สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงคณะกมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เตรียมจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาฯว่าการกระทำผิดที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา110 และ มาตรา112 ที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทฯนั้น
กมธ.มีเสียงแตก เห็นเป็น 3 แนวทาง ซึ่งจะเท่ากับว่ากฎหมายที่สภาจะตราออกมาใหม่เรื่องการนิรโทษกรรม ส่อไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ(รธน.)เสียเอง และทำให้ไม่ผ่านการพิจารณาถูกตีตกในสภาได้ นอกจากนั้น อาจเป็นการเปิดช่องให้คนนำเหตุผลมาอ้างว่า ทำลงไปเพราะมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ถูกชักจูงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมายทำผิดซ้ำอีก เพราะสุดท้ายก็ได้นิรโทษกรรม แบบนี้ถือว่าเป็นความลักลั่นทางกฎหมาย เปิดช่องให้คนทำผิดมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เปราะบาง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะเป็นความมั่นคงของชาติ
“พรรครทสช. ย้ำจุดยืนมาตลอดแล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรม เราคัดค้าน จะต้องไม่รวมคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 เด็ดขาด เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ใครจะดูหมิ่นก้าวล่วงไม่ได้ ซึ่งการจะตรากฎหมายใดออกมาก็ตาม ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เอาพวกพ้องเป็นใหญ่ หากดันทุลังผลักดันเรื่องนี้ในสภา เชื่อว่าสส.ผู้แทนที่มาจากประชาชนทุกคน ไม่ยอมแน่ หากกระทำความผิดก็ต้องยอมรับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายธนกร กล่าว.
ถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคที่ 4 ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับมาตรา 112 และ 110 ไล่ตั้งแต่ ภูมิใจไทย (ภท. ) พปชร. ชาติไทยพัฒนา (ชพน. ) ตามมาด้วยรทสช. ดังนั้นคงต้องรอดูท่าที พรรคพท. ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะมีจุดยืนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อ “นายทักษิณ ชินวัตร“อดีตนายกรัฐมนตรี มีคดีมาตรา 112 ติดตัว โดยมีรายงานกมธ.ฯนิรโทษกรรม มีข้อสรุปให้ส่งความเห็น แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภท คือ 1.ไม่เห็นด้วยให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา110 และมาตรา112 2.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา110 และมาตรา112 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และ3.เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีตามมาตรา110 และมาตรา112 แต่ต้องมีมาตรการ มีเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ความเห็นของทั้ง 3 กลุ่มประเภท จะได้บรรจุลงไปในรายงานด้วย ซึ่งในการประชุมกมธ.สัปดาห์หน้าจะพิจารณาสรุปรายงานอีกครั้ง คาดว่าจะส่งรายงานให้สภาฯทันภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากพรรคการต่างๆหรือไม่ เนื้อหาจะมีบทสรุปอย่างไร
ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา(สว. ) ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งวาระสำคัญคือ การเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งมาถึงวันนี้แทบทุกฝ่ายยอมรับแล้วว่า เก้าอี้ประธานและรองประธานฯคนที่หนึ่ง คงตกอยู่ในการครอบครองของสว. สายสีน้ำเงิน ซึ่งคุมเสียงไว้มากกว่า 140 เสียง ส่วนตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง อยู่ที่”สายสีน้ำเงิน “จะยอมปล่อยให้กลุ่มอื่นๆเข้ามาแชร์อำนาจในสภาสูงหรือไม่ โดยตัวเต็งประมุขวุฒิสภามี 2 คน คือ “บิ๊กเกรียง “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” สว.กลุ่ม 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กับ “นายมงคล สุระสัจจะ” สว.กลุ่ม 1 เช่นเดียวกัน ที่อยู่ในกลุ่มสายสีน้ำเงินด้วยกันทั้งคู่
ซึ่งรายงานล่าสุดมีแนวโน้มว่า “นายมงคล”จะได้รับการผลักดันให้เป็น “ประธานวุฒิสภา” ด้วยภาพลักษณ์นักปกครอง สามารถทำงานรวมกับคนหมู่มากได้ บุคลิกประนีประนอม จึงได้รับการผลักดันจากเจ้าของค่ายสีน้ำเงิน ส่วน”บิ๊กเกรียง” คงได้รับการผลักดันให้ทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการ(กมธ) การทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งตรงกับภาระหน้าที่ที่เคยทำมา ก่อนหน้านี้มีข่าว” กลุ่มอิสระ” ต้องการผลักดันนายบุญส่ง น้อยโสภณ” ชิงตำแหน่ง เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นอดีตผู้พิพากษา เคยอยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหารของศาล เช่น อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ ภาค 7 และยังเป็น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จึงถือว่ามีความรู้มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายสูง อีกทั้งที่ผ่านมาห้าปี ก็ทำงานเป็นที่ปรึกษาของ” นายศุภชัย สมเจริญ “ อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง มาตลอด จึงทำให้รู้ระบบงานวุฒิสภาเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม “ นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม “หนึ่งในสว. กล่าวถึงกรณีสว.กลุ่มอิสระจะเจรจากับสว.สายสีน้ำเงิน ให้เสนอชื่อ”นายบุญส่ง น้อยโสภณ” สว. อดีต กกต. เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่2 ว่า ชื่อเสียง ความรู้ ความสามารถของนายบุญส่งมีความเหมาะสมแต่อาจไม่จำเป็นต้องมารับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่2 สามารถไปนั่งเป็นประธานกมธ. ชุดอื่นๆ แทนได้ เช่น ประธานกมธ.กฎหมายฯวุฒิสภา
“ส่วนความเคลื่อนไหวของสว.สายสีน้ำเงินขณะนี้ยังนิ่งอยู่ไม่ทราบว่าจะเสนอใครเป็นประธานหรือรองประธานวุฒิสภา คงจะมีความชัดเจนช่วงใกล้วันที่ 23ก.ค.ที่จะประชุมวุฒิสภาเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา”นายสรชาติ กล่าว
ขณะที่” น.ส.นันทนา นันทวโรภาส” สว. ในฐานะสว.พันธุ์ใหม่ หรือกลุ่มอิสระ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวและเดินเกมให้สมาชิกมาสนับสนุนในการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาในวันที่ 23 ก.ค.นี้ว่า กลุ่มของเรารวมตัวกันแบบเดิมยังไม่ได้ไปรวมกับใครเราก็คงจะใช้การแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมในฐานะที่เราส่งชิงประธานและรองประธานวุฒิสภาคนที่เป็นแคนดิเดตก็จะขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ส่วนทางกลุ่มจะส่งใครชิงทั้งประธานและรองประธานวุฒิสภานั้น ยังไม่ได้ตกผลึกเมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ดูเหมือนว่าสว. จากกลุ่มสีน้ำเงินจะมาแรง ทางกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่จะแก้เกมอย่างไร
น.ส.นันทนา กล่าวว่า เราได้แต่สื่อสารกับประชาชนว่า ถ้าใช้วิธีการโหวตก็เหมือนกับเป็นการกินรวบ และวุฒิสภาก็จะกลับไปเหมือน กับสว.ชุดเดิม อยากให้ภาพลักษณ์วุฒิสภาชุดใหม่ เป็นสภาของประชาชนฉะนั้นจึงอยากให้กลุ่มที่เขามีเสียงข้างมากกระจายสัดส่วนมายังกลุ่มสว. ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับบ้านใหญ่ ให้ได้รับสัดส่วนของการกระจายตำแหน่งต่างๆด้วย เพื่อที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของสว.ชุดใหม่ไม่ได้มีลักษณะแบบเดิม คงต้องรอดูว่าการร้องขอของ “สว. กลุ่มพันธ์ใหม่” หวังไม่ให้สายสีน้ำเงินกินรวบ จะได้ผลหรือไม่ ยิ่งก่อนหน้านี้ อ้างเป็นพวกที่ยึดถือระบบประชาธิปไตย ต้องยึดเสียงข้างมากเป็นกระบวนการตัดสิน
ทีมข่าวการเมือง