เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำและการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้พิการและผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในสังคมให้เข้าสู่การศึกษาสายอาชีพ โดยมุ่งเน้นการฝึกฝนทักษะวิชาชีพให้เกิดความชำนาญ เพื่อสามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ สามารถช่วยเหลือตนเอง และสามารถเป็นกำลังให้กับครอบครัวและสังคมได้ ซึ่งการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา จัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ 1.การศึกษาแบบเรียนรวม 2.การศึกษาแบบเฉพาะทาง และ 3.การศึกษาแบบเรียนร่วม โดยจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายในและภาคีเครือข่ายภายนอกสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งมีศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา สอศ. นำทีมการขับเคลื่อนศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค 10 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา 77 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนไปตามนโยบายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มคนพิการที่ขาดโอกาสและดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น
 
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การจัดโครงการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ที่จะเป็นส่วนช่วยในการสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพเครือข่าย และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกระดับการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ

ด้านนายพิษณุเวท โพธิ์เพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา จังหวัดนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่การประกาศจัดตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและซักซ้อมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาคและศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ ระหว่างศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา กับ ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบและกลไกการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา รวมถึงแนวทางการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ