“วันเข้าพรรษา” นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว คนไทยถือโอกาส 3 เดือนนี้ใน การลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูตับ ยืนยันด้วยผลทางวิทยาศาสตร์ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ดูความสำเร็จของโครงการ “พลังหมออนามัย ชวนคนลด ละ เลิกเหล้า Check ตับ ยืดชีวิต” จัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเอนไซม์ตับ
“นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส.” อธิบายว่า คนป่วยโรคตับอักเสบ หรือไขมันแทรกตับ ตับแข็ง มะเร็งตับในระยะสุดท้าย ถ้าสืบย้อนกลับไปพบว่ามีการดื่มสุราแบบเสี่ยงอันตราย คือมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน โดย 1 ดื่มมาตรฐานคือ ปริมาณแอลกอฮอล์ 10 กรัม คำนวณคร่าวๆ คือเบียร์ 1 กระป๋อง เหล้าแดง 2 ฝา เหล้าขาว 2 เป๊ก
“แต่คนส่วนใหญ่ถ้าได้ดื่มก็จะเมา ดื่มมากกว่า 8-10 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งพิษส่วนเกินจากแอลกอฮอล์ ก็เปรียบเสมือนค้อนที่ไปทุบตับ ทำให้เอนไซม์ในตับหลั่งออกมาเยอะ หากค่อย ๆ ลด หรือไม่ดื่มเลยจะทำให้ตับสามารถฟื้นฟูกลับมาได้”
ดร.บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และกิจการนิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ อธิบายว่า โครงการ “ชวนคนลด ละ เลิกเหล้า Check ตับยืดชีวิต” หลักการคือ ชวนให้คนลด ละ เลิกดื่มสุราด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ นำร่อง 80 พื้นที่ ใน 12 เขตสุขภาพ รวม 13,556 คน เข้าร่วม 4,236 คน สมัครใจเจาะเลือดตรวจเอนไซม์ 3,469 คน พบเกินมาตรฐาน 894 คน หรือ 24.47% เมื่อปรับพฤติกรรม ตรวจเลือดครั้งที่ 2 ค่าเอนไซม์ในตับลดลงมากกว่า 40%
“กลยุทธ์การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นการถอดบทเรียนมาจากคำแนะนำของ นพ.พงศ์เทพ ที่ได้ริเริ่มทำในพื้นที่ จ.น่าน และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงที่ อ.โพนพิสัย”
สำหรับความสำเร็จของพื้นที่โพน พิสัยนั้น “รฏิมา อารีรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.เซิม” เล่าว่า ในพื้นที่ อ.โพนพิสัย มี 6 ตำบลที่ดำเนินโครงการ โดยมีประชุมชี้แจง อสม.และผู้นำชุมชน เพื่อคัดกรองคนดื่มเหล้าในชุมชน จากนั้นก็จะเจาะเลือดตรวจเอนไซม์ตับ 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือน คนที่มีค่าเอนไซม์ตับสูง ๆ ก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนคนที่ยังไม่ถึงขั้นมีปัญหาก็จะเน้นการปรับพฤติกรรมลดการดื่ม ผลการทำงานพบว่าคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดี และสุขภาพตับดีขึ้น
“เดิมพื้นที่เราจะมีปัญหาคนเมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาทคนในครอบครัว การทำร้ายร่างกาย พอเข้าโครงการแล้ว สถิติตรงนี้ลดลง อย่างปีที่แล้วมีคนเมาแล้วขับเสียชีวิต 3 ราย แต่ปีนี้ยังไม่มีสถิติการเสียชีวิตเมาแล้วขับเลย”
ส่วน “นักดื่ม” ที่เข้าร่วมโครงการ อย่าง ร.ต.ท.ธงชัย ศรีชัยชนะ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีภูธรเซิม ที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน มิวายร่วมวงดื่มจากเป๊กสองเป๊กหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าร่วมโครงการตรวจถึงรู้ว่าเอนไซม์ตับอยู่ที่ 74 เข้าเกณฑ์ต้องระวัง จึงลดการดื่ม พอตรวจครั้งที่ 2 ตับก็ดีขึ้น ส่วน “ธวัช สารบรรณ” ครูชำนาญการ โรงเรียนเซิมวิทยาคม ยอมรับว่า เป็นคนดื่มหนัก ก๊งหลังเลิกเรียนจนถึงขั้นไปทำงานไม่ได้ พอเข้าร่วมโครงการตรวจพบเอนไซม์ครั้งแรก 76 จึงลดการดื่มลง ผลตรวจครั้งที่ 2 ค่าเอนไซม์เหลือ 28 ร่างกายดีขึ้น ตื่นเช้าไม่มึนงง อารมณ์ดีขึ้น สามารถทำงานได้ตามปกติ
ขณะที่ นางสมบูรณ์ หาญชนะ เกษตรกร ค่อนข้างหนัก เล่าว่า ตกเย็นหลังเสร็จงานเกษตรรวมกลุ่มเพื่อนหญิงดื่มเหล้าเป็นกิจวัตร แถมดื่มหนัก จนถูกทักตัวเหลือง ตาเหลือง พอเข้าร่วมโครงการฯ ตรวจครั้งแรกเอนไซม์ตับสูงถึง 542 ถูกส่งเข้า รพ. พอตรวจซ้ำปาเข้าไป 700 กว่า ต้องนอน รพ. 2 วัน ให้ยารักษา จากนั้นออกมาปรับพฤติกรรม ลดการดื่ม ตอนนี้ค่าตับเป็นปกติแล้ว
“ตั้งแต่ตอนที่ลูกเราร้องไห้ เข้ามากอดแม่ไว้เพราะกลัวแม่ตาย ตอนนั้นก็ทำให้เราตัดสินใจว่าจะเลิกเหล้าเลย”.
อภิวรรณ เสาเวียง