เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา สาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมกรณีวาระการพิจารณาความเห็นและสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า การหาสาเหตุเรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนแรกคือเรื่องของการติดตามเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุดคุมการนำเข้าปลาชนิดนี้ ซึ่งทางอธิบดีกรมประมงได้ส่งสำเนามายัง กมธ. และในวันอังคารที่ 23 ก.ค.นี้ จะเชิญคณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปที่กรมประมง เพื่อไปดูห้องเก็บตัวอย่างซากปลาของกรมประมงว่ามีสภาพอย่างไร รวมถึงเรื่องของการติดตามสัตว์ต่างประเทศที่นำเข้ามาว่ามีกระบวนการรัดกุมแค่ไหน
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้เรื่องที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ มีการส่งออกปลาสายพันธุ์นี้ในปี 2556-2559 จริงหรือไม่ ซึ่งวันนี้ทางอธิบดีกรมประมงได้ตรวจสอบข้อมูลมาแล้ว พบว่ามีการส่งออกจริง ไปยัง 17 ประเทศทั่วโลก จำนวน 230,000 ตัว โดยบริษัทเอกชนจำนวน 11 บริษัท สันนิษฐานได้ว่าปลายสายพันธุ์ดังกล่าวไม่มีอยู่ในราชอาณาจักรไทยมาก่อน และเจอครั้งแรกในปี 2555 หลังจากนั้นก็เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในหลายๆ คลองสาธารณะ แต่กฎหมายในขณะนั้น ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนปลาสายพันธุ์นี้เป็นปลาต้องห้าม จึงทำให้เอกชนบางรายที่เห็นปลาสายพันธุ์นี้แล้วไปจับเพื่อนำไปขายหรือส่งออกก็สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนด และทางอธิบดีกรมประมงยืนยันชัดเจนว่าไม่มีการขออนุญาตนำเข้าจากบริษัท 11 ราย ที่ส่งออก แต่บริษัท 11 รายนั้น จะมีแหล่งที่มาจากภายในประเทศ คือมีการระบาดมาก่อนหน้านี้แล้วนั่นคือปี 2555
เมื่อถามว่ากรมประมงยืนยันในเรื่องซากปลาหรือครีบปลาว่ามีหรือไม่มี นายณัฐชา กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างปลามี 2 ส่วน คือเมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งเป็นซากปลาที่เรากำลังตามหาอยู่จำนวน 50 ตัว แต่วันนี้ได้มีการเปิดรายงานของคณะกรรมการ IBC เมื่อปี 2553 ที่มีอธิบดีกรมประมงในขณะนั้นเป็นประธาน มติในการอนุญาตระบุเงื่อนไขไว้ 4 ข้อ นั่นคือบริษัทเอกชนนำเข้าปลาสายพันธุ์นี้ได้ต้องทำตาม 4 ข้อนี้ และ 1 ใน 4 ข้อคือก่อนการวิจัยต้องส่งตัวอย่างครีบปลาตั้งแต่ยังมีชีวิต เพื่อตรวจสอบและเก็บดีเอ็นเอเข้าสู่ดีเอ็นเอแบงก์ ซึ่งต้องดำเนินการก่อนการวิจัย แต่ตลอดระยะเวลาที่ตามหา 1 สัปดาห์เป็นหลังงานวิจัยว่าเมื่อวิจัยเสร็จสิ้นแล้วต้องส่งซากปลา ซึ่งเรื่องนี้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นจากกรมประมง และได้มีมติที่ประชุมในวันนี้เพื่อทำหนังสือส่งไปยังบริษัทซีพีเอฟอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมอนุฯ กมธ. ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่อสอบถามว่าการได้รับอนุญาตแบบมีเงื่อนไขนั้น ใน 4 ข้อ ท่านได้กระทำแล้วครบหรือไม่ มีการส่งตัวอย่างครีบปลาก่อนวิจัย และซากปลาหลังวิจัยหรือไม่ เพราะการอนุญาตแบบมีเงื่อนไขหากข้อหนึ่งข้อใดไม่ครบองค์ประกอบ นั่นก็หมายความว่าใบอนุญาตขาดคุณสมบัติไป เท่ากับว่าท่านนำเข้ามาโดยไม่ครบองค์ประกอบ
เมื่อถามว่าขณะนี้ภาคประชาชนเรียกร้องให้เรียกค่าเสียหายสิ่งแวดล้อมกับบริษัทเอกชน นายณัฐชา กล่าวว่า วันนี้ในส่วนของการเอาผิดในเรื่องของโทษ เรามีการเชิญสภาทนายความ โดยอุปนายกสภาทนายความได้ร่วมประชุมกับ กมธ.และพูดคุยให้ข้อเสนอแนะถึงเรื่องกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นั่นคือเรื่องความผิดทางละเมิดในเรื่องของการละเมิดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเทศไทย ซึ่งอันนี้ทางสภาทนายความรับไป และให้ข้อมูลกับ กมธ.ว่าได้รับเรื่องนี้จากพี่น้องประชาชนมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่จะขอข้อมูลจาก กมธ.เพื่อประกอบการพิจารณาในการฟ้องร้องต่อไป ในส่วนของข้อกฎหมายซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือในส่วนของกรมประมงเป็นข้อกฎหมายเก่าในขณะนั้น ซึ่งโทษที่เห็นได้ชัดที่สุดคือโทษห้ามนำเข้าอีกในปลาสายพันธุ์นี้เท่านั้น ซึ่งเป็นโทษที่ไม่รุนแรง หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และเรื่องนี้ กมธ.จะนำไปแก้ไขต่อไป
“แต่การรับผิดหรือการรับผิดชอบ โดยเงื่อนไขการตัดสินใจของมนุษย์ มี 2 ทางคือ 1.รับผิดชอบตามกฎหมายกำหนด และ 2.รับผิดชอบตามจิตสำนึกที่มี เมื่อกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมหรือกำหนดไว้ ท่านอาจไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ท่านอาจจะรับผิดชอบสังคมได้” นายณัฐชากล่าว
นายณัฐชา กล่าวว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ยืนยันว่า แม้จะหา 2 ขวดโหลไม่เจอ เราสามารถนำคุณภาพดินตรงที่ฝังกลบปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว เมื่อ 14-15 ปีที่แล้ว มาตรวจสอบหาส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอมาซ้อนกัน แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถยืนยันบางส่วนของพันธุกรรมได้ว่าตรงกันหรือไม่ ส่วนถ้าเกิดบริษัทเอกชนบอกว่าดินที่ฝังกลบไว้ ได้สร้างตึกทับไปแล้ว เราไม่ได้ทุบตึกทั้งตึก แต่ขออนุญาตเจาะบริเวณที่ชี้ว่ามีการฝังกลบ เพราะทางกรมประมงบอกว่าไม่ได้รับรายงานในการทำลายซาก การบอกว่าทำลายโดยการฝังกลบแล้วเป็นเพียงคำบอกเล่า ยังไม่มีรายงานส่งมายังหน่วยงานภารรัฐ จึงน่ากังวลว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการทำลายไม่มีใครรู้เห็น จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการจะเชิญภาคเอกชนมาให้ข้อมูลอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า หากเขานำเข้ามา มีการเก็บตัวอย่างข้อมูล เราขอเอกสารข้อมูลได้แต่หากเริ่มโครงการแล้ว วิจัยไปแล้ว ปล่อยตายและฝังซากแล้ว ไม่มีรายงานเอกสารใดๆ เลย เป็นที่น่าสงสัยว่าโครงการวิจัยนี้ต้องการอะไรกันแน่ เพราะผ่านไปแค่ 10 วัน ก็ล้มเลิกโครงการไปดื้อๆ ไม่มีโครงการเข้ามาใหม่ ไม่มีการขับเคลื่อนต่อ และหากไม่มีเอกสารยืนยันได้เลยก็ต้องขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานเอกชน เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบ แต่หากไม่อนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบได้ ก็คงต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งวันนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ พยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ดังนั้นข้อกฎหมายอาจทำให้ยังไม่ครอบคลุม ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าหากได้หารือกันในหลายๆภาคส่วนแล้ว จะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาในเรื่องนี้ ถือเป็นการเชิญทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ภาคเอกชน มาร่วมทำงานกันอย่างจริงจัง
“ทั้งรมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศตามหาต้นตอ ก็ถือว่าเจตนารมณ์เราตรงกันแล้ว เหลือแต่การดำเนินการที่จะทำให้สุดทาง จะดำเนินการอย่างเต็มที่หรือไม่ที่จะหาต้นตอสาเหตุของการแพร่ระบาดครั้งนี้ เพราะอาจเป็นเคสตัวอย่างในอีกหลายๆ เคสที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในประเทศไทย”นายณัฐชา กล่าว.