นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เปิดเผยว่า อีอีซีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขตอีอีซีผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่

โดยจะศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการขออนุญาตการตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้า การขอใช้ที่ดินในการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการศึกษาถึงต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์เชิงสังคม เพื่อจะเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนวณต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น โดยจะเริ่มศึกษาตั้งแต่เดือน ส.ค.-พ.ย. 67 เป็นระยะเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าต่อไป คาดว่าในปี 69 สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อจ่ายให้กับผู้ประกอบธุรกิจในเขตพื้นที่อีอีซีได้

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) กล่าวว่า ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานโลก จะมีบทบาทที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้หากไทยจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero จะต้องพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนได้ 90% ซึ่งในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 หรือแผนพีดีพี 2024 ได้วางเป้าหมายการผลิตพลังงานหมุนเวียนไว้ 50% หรือ 3-4 หมื่นเมกะวัตต์ จะต้องมีแบตเตอรี่หรือระบบจัดเก็บไฟฟ้าไว้เพียง 1 หมื่นเมกะวัตต์ และใช้ระยะเวลา 13-14 ปี

ซึ่งมองว่ายังช้าไป และจากการวิเคราะห์พบว่าหากจะผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 3-4 หมื่นเมกะวัตต์ แบตเตอรี่จะต้องเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า ซึ่งจะต้องเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปอีกภายใน 14 ปีจากนี้ หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท โดยครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน ซึ่งภาครัฐอาจจะไปดูแลด้านโครงสร้างเครือข่าย ระบบผันผวน และแบตเตอรี่ที่จะต้องนำไปใส่ รวมไปถึงการจัดระบบสมาร์ทกริด จึงเชื่อว่าการศึกษาของทีดีอาร์ไอครั้งนี้จะนำไปสู่ก้าวพลังงานสะอาดและเป็นประโยชน์กับชนรุ่นหลังมีชีวิตในโลกเขียวสวยงาม

“ถ้าจะผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 90% ตามแผนเดิมจะต้องใช้เวลาถึง 20 ปี แต่ตอนนี้ไทยมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้แค่ 4-5 ชม.ต่อวัน ดังนั้นหากที่ให้มีพลังงานเพียงพอตลอด 24 ชม. จะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้มากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิลให้ได้มากกว่า 4-5 เท่า หรือเพิ่มขึ้นมาเป็นแสนเมกะวัตต์ และใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกราว 1.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านมหาศาลแต่ก็เป็นโอกาสในการลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ” นายวีระเดช กล่าว