เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง รฟม. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม. รักษาการผู้ว่าการ รฟม. นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร BEM และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM เป็นผู้ลงนาม โดยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการ รฟม. และนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ BEM เป็นสักขีพยาน

นายสุริยะ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรัฐ และเอกชน ที่จะร่วมกันเดินหน้าก่อสร้างส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร (กม.) รวมทั้งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกโดยเร็วที่สุด โดยตามแผนจะเปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 71 แต่จากการเจรจากับเอกชน ทาง BEM จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในสิ้นปี 70 เป็นของขวัญปีใหม่ปี 71 ให้ประชาชน สำหรับส่วนตะวันตก จะเปิดให้บริการรวมตลอดสายได้ประมาณกลางปี 73 โดยจากผลการศึกษาคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 1.5 แสนคนต่อวัน และหากเปิดให้บริการตลอดสายสีส้ม จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 4 แสนคนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารแม้ในสัญญาจะระบุที่ 17-42 บาท แต่ผู้โดยสารจะจ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ส่วนที่เหลือรัฐจะเป็นผู้ชดเชยให้เอกชน

ด้านนายปลิว กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลที่ไว้วางใจให้ BEM ให้เป็นผู้รับสัมปทานโครงการฯ ซึ่งโครงการนี้ล่าช้ามากว่า 3 ปี แต่บริษัทฯ ก็จะใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการบริหารโครงการฯ ที่ผ่านมา มาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และดำเนินงานได้ตามแผนงานที่วางไว้ และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยเร็วที่สุด โดยบริษัทฯ ให้คำมั่นว่าจะทุ่มเทความสามารถเต็มกำลัง เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ เกิดประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

ขณะที่นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม. เตรียมพื้นที่ก่อสร้างไว้พร้อมแล้ว และเตรียมออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้ภายในเดือน ก.ค. 67 เพื่อให้ BEM สามารถเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้ทันที โดยเบื้องต้นภายใน 1-2 เดือนนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโยกย้ายเรื่องระบบสาธารณูปโภคก่อน

ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร BEM กล่าวว่า ภายในปี 67 บริษัทฯ จะสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้า เพื่อมาให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประมาณ 30 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้  ขณะเดียวกันจะสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าอีก 21 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ เพื่อมาให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มเติม ส่วนขบวนรถจะเป็นของบริษัทใด อยู่ระหว่างพิจารณา ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นบริษัท ซีเมนส์ (Siemens) เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่า ก็มีความเป็นไปได้ อยู่ระหว่างพิจารณา ทั้งนี้การจัดหาขบวนรถสายสีส้ม ใช้วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่งานก่อสร้างส่วนตะวันตกประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งใช้วิธีกู้เงินธนาคารกรุงเทพผ่านเรียบร้อยแล้ว  

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับขบวนรถไฟฟ้า หลังจากสั่งซื้อแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตจะเริ่มออกแบบใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเริ่มทดสอบระบบ 1 ปี และในปีที่ 3 จะทยอยส่งขบวนรถมายังประเทศไทย เพื่อมาทดสอบระบบอีกครั้ง ก่อนจะเปิดให้บริการผู้โดยสารต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี 69 บริษัทฯ จะเข้าไปเป็นผู้ดูแลส่วนตะวันออกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จต่อจากช่วงรับประกันผลงานการก่อสร้าง 2 ปีของผู้รับจ้างงานโยธา สำหรับงานก่อสร้างส่วนตะวันตก บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ

นายสมบัติ กล่าวว่า คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก จะช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ประมาณ 20% จากปัจจุบันผู้โดยสารสายสีน้ำเงินอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคนต่อวัน เป็นประมาณ 6-7 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดบริการสายสีส้มตลอดทั้งสาย จะเพิ่มปริมาณผู้โดยสารสีน้ำเงินได้ประมาณ 30% ถือเป็นการเติบโตค่อนข้างสูงจากปัจจุบันสายสีน้ำเงินจะเติบโตประมาณ 4-5% ต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กม. แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย).