เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังเข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือยกระดับคุณภาพแรงงานฟาร์มสุกรตามแนวปฏิบัติสากล (GLP) ในประเด็นของปลาหมอสีคางดำ ว่า เรื่องเกิดมา 14 ปี ถ้าจะเป็นเพราะซีพีเอฟ เราทำปี 2553 และเราก็เอาอิมพอร์ตมา ลูกปลามันเพลีย ปี 54 ก็เลิก ผ่านมา 14 ปี มันคงไปไหนไม่รู้แล้ว มาระบาดตอนนี้มาเกี่ยวอะไรกับเรา แต่ในฐานะที่เราทำเกษตร มีปัญหาเราช่วยอะไรได้บ้าง แน่นอนครับรัฐบาลก็มีสปิริตเป็นหัวหน้าทีมหลัก เราก็เป็นตัวเสริม ช่วยในบางเรื่องที่เราช่วยได้
‘ณัฐชา’ ชี้ข้อมูล ‘ปลาหมอคางดำ’ ย้อนแย้ง รับหวั่นปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เราเป็นบริษัทใหญ่ ทำอะไรก็ต้องทำตามขั้นตอน พอจะนำเข้าก็คือเป็นเราคนเดียวที่มี “เอกสารนำเข้า” แต่ตนไม่รู้ว่ามีใครนำเข้าเยอะขนาดไหน แต่มีการส่งออกปลาอันนี้เหมือนกัน พอดีพี่ชายตนก็เคยเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ฮิตอยู่พักหนึ่ง น่าจะปี 56-58 ฮิตมาก เพราะตัวบอดี้มันสวย มันเงา สวยงาม เมืองไทยมีการส่งออกเพียบเลย ตนคิดว่าคนเลี้ยง เลี้ยงแล้วเบื่อก็เอาไปทำอะไรบ้าง อันนั้นมีเป็นแสนๆ ตัวเรามีแค่ สองพันตัว เอง อ่อนแอตาย เอามาก็เหลือ 600 ตัวแล้ว แต่วันนี้ผ่านมา 14 ปี มันมีผลกระทบกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมา ตนคิดว่าก็ต้องกลับไปดูว่าวันนี้พอมันเกิดเหตุแล้วจะแก้ยังไง มีประโยชน์ไหม เอามาใช้ เอามากิน เอามาทำกับข้าว เอามาทำอะไรได้ไหม
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าจะถามว่า มันมาจากไหน จะมาบอกว่ามันมาจากตนที่เหลืออยู่นิดนึง หรือที่มีคนนำเข้ามาแล้วส่งออกด้วยนะ ปีหนึ่งหลายหมื่นตัว ปีละ 5-6 หมื่นตัวด้วยซ้ำ อันนี้มันเหมือนปลาดูด (ปลาซักเกอร์) ที่แต่ก่อนก็ชอบนิยมนำมาเลี้ยงในบ่อสักพักหนึ่งมันตัวใหญ่ ไม่รู้จะทำยังไง ก็รู้ๆ กันนะว่าเขาทำยังไงต่อ ไปปล่อยทิ้งหรือเปล่า ก็เหมือนอันนี้เป็นปลาสวยงาม ที่มีความนิยมอยู่พักนึง แต่ความนิยมน้อยลงก็เลยมีการส่งออกกันเยอะ
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า คำถาม เรามีข้อมูล เรารู้ว่ามีการนำเข้า เราไม่รู้หรอก พอมีเหตุเราก็เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้น มันเกิดมา 14 ปีแล้ว ปลามันไม่ยืนยาวนานขนาดนั้น อย่างเช่นเรานำเข้าปี 53 เลิกทำตอนปี 54 (นำเข้า ธ.ค. 53 ยกเลิกการวิจัย ม.ค. 54) ถ้ามาพบการระบาดปี 54 เลย แล้วไม่มีใครนำเข้าอื่น ไม่มีปลาสวยงาม ไม่มีอะไรเลย อันนี้ก็พอจะเกี่ยวกับซีพีเอฟรึเปล่านะ แต่นี่มันผ่านมา 14 ปี แถมระหว่างนั้น แต่ละปีมีส่งออก 5-6 หมื่นตัว ถ้าผมจำไม่ผิดคือส่งออกหลายหมื่นตัว นี่ตัวเลขส่งออกนะ ยังไม่รู้ว่าตัวเลขนำเข้า และมีคนเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งมันสวยนะแล้วนำเข้ามาอีก นำเข้ามาไม่ถูกต้อง แล้วเลี้ยงอยู่ที่บ้านอีกเท่าไร เยอะมาก
“วันนี้เป็นประเด็นถ้าจะถามว่า มาจากไหน ผมเชื่อว่ามันอยู่ตรงนี้แหละ แต่เราก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปบอกเหมือนกัน มันพูดยาก แต่วันนี้เมื่อมันมีเหตุแล้ว ก็อยู่ที่พวกเราทั้งหมดจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร เอามาแล้วเป็นเมนูใหม่ไหม 4-5 เรื่อง เอาไปกำจัดมัน เอาไปทำอาหารสัตว์ได้มั้ย แปรรูป ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมองไปข้างหน้าและเรียนรู้ที่จะแก้ไข ตอนนี้ก็ต้องช่วยไป ตามที่เราพอจะช่วยได้ การรับซื้อ เราเองมีหลักการในการรับซื้อ อันไหนที่เข้ามาตรฐานได้ เราก็ช่วยเพื่ออยากให้ลดปัญหา ผมก็คิดว่าเราคงเชิญชวนคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม สมาคมอาหารสัตว์มาช่วยกัน เพราะมันกระทบภาคเกษตร และพอกระทบมันก็ไปกระทบเศรษฐกิจอะไรอย่างนี้ แต่ก็โอเคเห็นมีคนไปจับกันใหญ่เลยตอนนี้” นายประสิทธิ์ กล่าว
ต่อข้อถาม อธิบดีกรมประมงบอกไม่มีการส่งหลักฐาน นายประสิทธิ์ ตอบว่า ตนก็ฟังจากข่าวหลายๆ ข่าว อ่านๆ นะ เห็นบอกว่ากระทรวงน้ำท่วม หลักฐานก็หายไปหมด อะไรอย่างนี้นะ เลยไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราส่งไปก็นานแล้วร่วมสิบกว่าปี ข้างในเรามีบันทึกว่าเราทำลายไปแล้ว แต่จำนวนปลามันก็นิดเดียว เอาจริงๆ จะมาหาว่าใครเป็นคนทำ มันมีอะไรที่ใหญ่กว่านั้นเยอะมาก ยังมีกระบวนการที่นำเข้ามาทำธุรกิจปลาสวยงาม ตอนนี้ก็ทำวิจัยเรื่องตัวปัจจุบัน ปลานิล ปลาทับทิม ซี่งทำได้ดีอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้แข็งแรงขึ้น โตขึ้น อัตราการรอดดีขึ้น เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยม โฟกัสอยู่ที่ตัวปลาพวกนี้มากกว่า.