เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ช่อทิพย์ กัณฑโชติ และคณะ ผู้ค้นพบพืชชนิดใหม่ ของโลก (new species) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ขี้อ้นกิ่งดำ และม่วงศรีอุดร ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และโครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย (Flora of Thailand) เพื่อศึกษาความหลากหลายของพืชมีท่อลำเลียงในลุ่มน้ำโขงและความหลากหลายของพืชวงศ์ผักปลาบ (Commelinaceae) ในประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ช่อทิพย์ กัณฑโชติ อาจารย์ประจำภาควิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักวิจัยผู้ค้นพบ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาและค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ พืชชนิดที่ 1 มีชื่อไทย: ขี้อ้นกิ่งดำ ชื่อวิทยาศาสตร์: Helicteres ubonensis Chantar. & Kantachot คำระบุชนิด: “ubonensis” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสถานที่พบพืชชนิดนี้ ลักษณะเด่นของพืช: เป็นไม้พุ่มสูง 1-2 เมตร แผ่นใบรูปขอบขนานแคบหรือรูปรีแกมขอบขนานแคบ กิ่งสีดำแกมน้ำตาลหรือสีดำคล้ำ ดอกสีม่วงแกมขาวหรือสีชมพู ร่วงง่าย ส่วนปลายของผลเป็นจะงอยแหลม สถานที่พบ: น้ำตกสร้อยสวรรค์และอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยทำการวิจัยค้นพบร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่: วารสาร Blumea เล่มที่ 69 หน้า 13-15 ปี 2024
ในส่วนของพืชชนิดที่ 2 มีชื่อไทย: ม่วงศรีอุดร ชื่อวิทยาศาสตร์: Amischotolype balslevii Boonsuk, Chantar. & Kantachot คำระบุชนิด: “balslevii” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. Henrik Balslev ศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก ผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ลักษณะเด่นของพืช: เป็นไม้ล้มลุกปีนป่าย ผิวลำต้น กาบใบ และแผ่นใบเกลี้ยง กลีบเลี้ยงสีม่วง ผลสีขาวแกมม่วง สถานที่พบ: อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี การกระจายพันธุ์: เลย บึงกาฬ นครพนม ชลบุรี และจันทบุรี และประเทศลาว โดยทำการวิจัยค้นพบร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญช่วง บุญสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การตีพิมพ์เผยแพร่: วารสาร Blumea เล่มที่ 69 หน้า 49-53 ปี 2024
นับเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก สอดรับกับพันธกิจและแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของพื้นที่เสริมสร้างความยั่งยืน และความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ.