กรณี “ปลาหมอคางดำ” ที่เป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species)“ แพร่พันธุ์ “รุกรานทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่น-สัตว์น้ำเศรษฐกิจ-ระบบนิเวศ” ก็ชวนให้คิดถึงการที่ “มีสัตว์ต่างถิ่นไม่น้อยมาแพร่หลายในไทยเป็นเรื่องปกติ??“… และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ข้อมูลบางช่วงบางตอนจากบทความวิชาการ“Alien-washing : เปลี่ยนต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น“
ที่จัดทำโดย ธนพล เลิศเกียรติดำรง นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเผยแพร่ใน www.sac.or.th ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 และในวันนี้…วันที่อื้ออึงกรณี “ปลาหมอคางดำ-ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์”บทความนี้ก็น่าสนใจยิ่ง…

น่าสนใจ “ฟอกต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น“…
ในไทย “มีสัตว์ต่างถิ่นถูกฟอกเช่นนี้?“

ทั้งนี้… “การที่สัตว์ต่างถิ่นบางชนิดถูกโปรโมตเป็นสินค้ายั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการตั้งข้อสังเกต และโยงไปถึงแนวคิดการฟอกเขียว หรือ Greenwashing ที่เคยเกิดขึ้นกับปัญหาและผลกระทบทางนิเวศ รวมถึงสิ่งแวดล้อม จากสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย“ …นี่เป็นบางช่วงบางตอนจากบทความ “Alien-washing : เปลี่ยนต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น” ที่นักวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรท่านดังกล่าวระบุไว้ อีกทั้งมีเนื้อหาที่หลักใหญ่ใจความมีว่า…

เมื่อต้นปี 2566 สังคมไทยเคยเกิดกระแสและมีปุจฉาจากงานเทศกาลงานหนึ่ง ที่มีการเปิดตัวเมนูอาหารจากปลาชนิดหนึ่ง ที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์เพื่อจะให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่โดยเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมีการนำเสนอเมนูที่ทำจากปลาชนิดนี้ว่า…เป็นวัตถุดิบหรู ขณะที่ปลานั้นเลี้ยงง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามจากนักสิ่งแวดล้อมและผู้คนในสื่อออนไลน์ล้นหลามว่า เหตุใดสายพันธุ์ปลาที่ห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยงมีการขายและประชาสัมพันธ์ได้?? จนร้านค้าที่เป็นประเด็นดังกล่าวได้ยกเลิกการโปรโมตและยกเลิกเมนูปลาดังกล่าวนี้ …นี่เป็นโดยสังเขปของกรณีนี้จากบทความดังกล่าว

กับกรณีดังกล่าวข้างต้นข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร?? ก็ว่ากันไป… ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลและชวนโฟกัสคือประเด็นที่นักวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรท่านดังกล่าวตั้งข้อสังเกตไว้ว่า… การที่สัตว์ต่างถิ่นถูกโปรโมตเป็นสินค้ายั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้นึกถึงทฤษฎีหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า…แนวคิด การฟอกเขียว (Greenwashing)“ และก็ทำให้ผู้จัดทำบทความดังกล่าวได้มีการนำคำ 2 คำ คือ “Alien” จาก Alien species ที่หมายถึง สายพันธุ์ต่างถิ่น กับคำว่า “Washing” จาก Greenwashing ที่หมายถึง การฟอกเขียว มาผสมกัน ซึ่งเกิดเป็นคำว่า “เอเลี่ยนวอชชิ่ง (Alien-washing)“ หรือ “การฟอกสายพันธุ์ต่างถิ่น“ เพื่อใช้อธิบายกรณีสัตว์ต่างถิ่นถูกโปรโมตเป็นสินค้ายั่งยืน-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เรื่องนี้ “ปลาหมอคางดำคงไม่เกี่ยว?“
แต่…“ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก!!“

ข้อมูลในบทความวิชาการ Alien-washing : เปลี่ยนต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น” โดย ธนพล เลิศเกียรติดำรง ได้อธิบายคำว่า “การฟอกเขียว (Greenwashing)” ไว้ว่าหมายถึง… กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้สินค้าและบริการนั้น ๆ ดูเหมือนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพยายามบิดเบือนความเป็นจริง ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างแท้จริงหรือถูกต้องทั้งหมด แต่ใช้การสร้างภาพลักษณ์เพื่อบรรลุผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้จากการสร้างภาพ

ขณะที่ “เอเลี่ยนวอชชิ่ง (Alien-washing)“ ในความหมายของผู้จัดทำบทความดังกล่าวนั้นระบุไว้ว่าหมายถึง… การกล่าวอ้างถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการกระทำอันหนึ่งอันใดกับสายพันธุ์ต่างถิ่น ผ่านการสร้างความจริงชุดหนึ่งที่บิดเบือน เปลี่ยนแปลง หรืออำพรางความจริงอีกด้านที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสายพันธุ์ต่างถิ่น ที่นำไปสู่การเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานได้ในภายหลังซึ่งในบทความได้หยิบยกตัวอย่าง “กรณีที่เคยมีกระแส” ช่วงปี 2560 นำมาเป็น “กรณีศึกษาเพื่อฉายภาพ” เรื่องลักษณะนี้ อาทิ… การ “ฟอกกุ้ง” บางชนิด ที่ใช้งานวิจัยเพื่อรองรับความน่าเชื่อถือ ระบุว่ากุ้งสายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งจะไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

จากกรณีศึกษา-กรณีตัวอย่างข้างต้น ก็ฉายภาพว่า… ในกระบวนการ “ฟอกสัตว์ต่างถิ่น” ส่วนใหญ่มักจะ พยายามแสดงให้เห็นกระบวนการที่มนุษย์ใช้วิธีบางอย่างเพื่อสร้างประโยชน์จากสายพันธุ์ต่างถิ่น เพื่อทำให้มองข้ามประเด็นสำคัญคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากสายพันธุ์ต่างถิ่น ที่ผลกระทบมักจะถูกกลบด้วยผลประโยชน์เศรษฐกิจ หรืออีกแง่หนึ่ง…ก็พยายามทำให้คนสนใจความหมายใหม่ของสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้ ที่มักจะถูกระบุเกินจริง จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาจาก “เอเลี่ยนสปีชีส์” ตามมา ซึ่งจะ ส่งผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม …นี่เป็นประเด็นที่มีการชี้ไว้

ทั้งนี้ ในบทความ “Alien-washing : เปลี่ยนต่างถิ่นเป็นท้องถิ่น” มีการระบุไว้ด้วยว่า… แม้การเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตข้ามพรมแดนจะไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นเรื่องผิดเสมอไป ไทยก็ส่งออก-นำเข้าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด แต่สำคัญคือ ต้องมีระบบในการควบคุมและป้องกันปัญหาที่ดีพอ โดยเฉพาะกรณีมีกระแสนิยม“เอเลี่ยนสปีชีส์“ เกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก ถ้ามีระบบควบคุมที่ไม่ดีพอจนหลุดสู่ธรรมชาติ ก็จะกระทบระบบนิเวศดั้งเดิม จะเกิดปัญหา

นี่เป็นโดยสังเขปจากบทความวิชาการ
เป็น คนละเรื่องกับปลาหมอคางดำ“
แต่ ก็น่าสนใจยิ่ง-ช่วงนี้ยิ่งน่าคิด??“.