เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ผ่านนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ทบทวนการนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชีรายชื่อยาเสพติดและการถอดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติโรคโควิด-19 แต่ยังคงฟาวิพิราเวียร์อยู่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นของการประกาศนำกัญชากัญชงกลับเข้าสู่ยาเสพติดให้โทษ ที่ผ่านมานั้นมีแต่การพูดถึงเรื่องการนำไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้เกิดโทษ ทำให้เกิดอคติตั้งแต่ต้น เช่นเด็กใช้แล้วสมองเสื่อม ทั้งที่ในหลายประเทศมีการวิจัยเรื่องนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ในคู่แฝดที่มีสติปัญญาใกล้เคียงกันหลายพันคู่ มีการเลี้ยงดูในครอบครัว สิ่งแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งแฝดคนหนึ่งใช้กัญชา อีกคนไม่ได้ใช้ เป็นการศึกษาต่อเนื่องจนถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พบว่าผลของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ต่างกัน แสดงว่ากัญชาไม่มีผลต่อสติปัญญา และลักษณะการติดกัญชาไม่ง่ายเหมือนบุหรี่และแอลกอฮอล์ ทั้งการเลิกกัญชาก็สามารถเลิกได้โดยไม่มีอาการลงแดง ส่วนกรณีที่ระบุว่าผู้ใช้กัญชาแล้วทำร้ายคน ก็ไม่มีการพิสูจน์ว่าผู้นั้นใช้ร่วมกับยาเสพติดอื่นด้วย เป็นการโทษกัญชาอย่างเดียว ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลกับสังคมที่ไม่ชัดเจน

นายปานเทพ กล่าวว่า ตามที่ตนได้ยื่นข้อเสนอใหม่ เป็นร่างประกาศรายชื่อยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นการใช้กัญชา กัญชง อย่างมีเงื่อนไข เพื่อให้ผู้ที่ใช้อย่างถูกต้องอยู่เดิม สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ.2564 ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า มีการล็อกสเปคให้กับกลุ่มทุนใหญ่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ให้จ่ายสารสกัดกัญชา รวมถึงกัญชง เนื่องจากใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ในมาตรา 40 ระบุว่าจะต้องมีเภสัชกรดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต นั่นคือการปลูก ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 และ 8 ที่เปิดช่องให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้ ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ผู้ที่จะทำได้ คือจะต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน ฟาร์มปิดขนาดใหญ่ กลุ่มทุนเพราะค่าจ้างเภสัชกรเดือนละหลักแสนบาท ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการล็อกสเปกให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่

“นี่คือการล็อกสเปกกลุ่มทุนผูกขาดทางการแพทย์ไม่กี่รายใชหรือไม่ ถ้าไม่แก้ไข ผมจึงเสนอร่างกฎหมายวัดใจรัฐมนตรีว่า ท่านมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะถ้าผมแก้ไขปัญหาที่สังคมห่วงใยได้ก่อนเวลา ด้วยเงื่อนไขไม่ผูกขาดทางการแพทย์ ท่านต้องรับร่างประกาศที่ผมเสนอ ระบุยาเสพติดให้โทษแบบมีเงื่อนไข หลักการคือคุ้มครองคนที่ทำถูกกฎหมายทั้งหมด ทั้งผลิตภัณฑ์ ทั้งวิชาชีพการแพทย์ทุกประเภท ไม่มีการล็อกสเปกวิชาชีพทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายสมุนไพรควบคุม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ท่านกล้าให้หรือไม่ ถ้าไม่คิดผูดขาดจริง วัดใจกันตรงนี้” นายปานเทพ กล่าว.