จากการค้นพบครั้งใหม่ของนักวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ NSM ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุลร่วมกับ คณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชชวนตามรอยนักวิจัย นำเรื่องน่ารู้ “ดอกดินเขาหินปูน” และไขคำตอบการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เปิดเผยให้ได้ติดตามต่อเนื่อง โดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ให้ความรู้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ในทางวิทยาศาสตร์คำว่า New species คือสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่มีมานานหรือนำมาใช้ประโยชน์กันมายาวนานแล้วก็ได้ แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างลึกซึ้งจึงยังไม่รู้ชื่อ

ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล

“ในเรื่องการค้นพบใหม่ นักวิจัยไม่ได้เข้าป่าเพื่อหาของใหม่ แต่จะเลือกสถานที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างถี่ถ้วน การค้นพบจึงทำให้เกิดองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่กระบวนการต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นคือชีวิตอะไร เป็นชีวิตที่มีชื่ออยู่แล้วหรือไม่เคยมีชื่อมาก่อน จึงกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ดังนั้นเมื่อมีการศึกษาสำรวจก็มีโอกาสจะพบเจอเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ และ การค้นพบทำให้เกิดการอนุรักษ์ อย่างเช่น ดอกดินเขาหินปูน พบว่ามีการกระจายพันธุ์ที่แคบมากมีความเสี่ยงสูญพันธุ์”

นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ดร.ณัฐพล อธิบายเพิ่มอีกว่า การค้นพบทำให้มีโอกาสวิเคราะห์ด้านสารเคมี อย่างพืชสกุลเปราะ วงศ์ขิงข่า มีตัวอย่างในงานวิจัยไม่น้อยโดยพบสารตัวใหม่ยับยั้งแบคทีเรีย เป็นการต่อยอดด้านการรักษาและการนำมาใช้ประโยชน์ และอีกส่วนหนึ่งในด้านความสวยงาม การค้นพบใหม่ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของเขา อาจนำมาขยายจำนวนหรือนำมาพัฒนาเพิ่มศักยภาพซึ่งก็เป็นการสืบรักษาคงอยู่ต่อเนื่องต่อไป ดังนั้นคงต้องบอกว่าเมื่อพบเจอแล้วก็ต้องอนุรักษ์ และในการใช้ประโยชน์ก็ต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน

ส่วนการค้นพบ “ดอกดินเขาหินปูน” พืชชนิดใหม่ของโลก ดร.ณัฐพลเล่าว่า พบครั้งแรกบริเวณยอดเขาและหน้าผาของภูเขาหินปูน ในเดือนพฤษภาคม 2566 ดอกของพืชมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่แปลกตา โดยมีเยื่อเหนืออับเรณู ขนาดใหญ่และโดดเด่นต่างจากดอกดินสกุลเปราะ สกุลย่อยโพรแทนเธียมทุกชนิดที่รู้จัก และจากการลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติมเพื่อศึกษาลักษณะของลำต้นเทียมและใบในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ และนำตัวอย่างพืชมาทำการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านเซลล์พันธุศาสตร์ ขนาดจีโนม และลักษณะทางสัณฐานวิทยาอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงความชัดเจนในการระบุขอบเขตของชนิดและสถานะทางอนุกรมวิธาน จากหลักฐานทางเซลล์พันธุศาสตร์ร่วมกับลักษณะทางสัณฐานวิทยาเผยให้เห็นชัดเจนว่า “ดอกดินเขาหินปูน” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก

“ความน่าสนใจของพืชกลุ่มนี้ วงศ์ขิงข่าซึ่งขิงข่าเป็นสมุนไพร โดยในเอเชียนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมีสรรพคุณทางยา แต่สำหรับตนเองสิ่งที่ดึงดูดให้สนใจศึกษา ในมุมมองเห็นความสวยงามของดอก ขณะที่ใบบางชนิดมีความแปลกตาและด้วยพืชกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีการศึกษา ทั่วโลกมี 16 ชนิด โดยประเทศไทยพบ 15 ชนิดซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ ทั้งนี้ ดอกดิน ที่เรียกเช่นนี้เพราะดอกเขาจะออกบนดินในช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ดอกจะออกมาให้เห็นบนดิน แต่พอหมดดอก จะผลิใบตามมา”

สำหรับดอกดินที่พบในประเทศไทยมีความสวยงามโดดเด่น อย่างเช่น ดอกดินทยา ใบของเขาถ้าเต็มฟอร์มจะมีสี่ใบ มีขนาดใหญ่ใบลวดลายคล้ายแตงโม เป็นหนึ่งในพืชชนิดใหม่พบที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หรืออย่างเช่น เปราะนพรัตน์ พืชสกุลเปราะหอม วงศ์ขิงข่าพันธุ์ใหม่ของโลกเช่นกัน ใบมีความสวยงาม ดอกมีสีขาวแต้มสีม่วง พบที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดเป็นพืชถิ่นเดียวหายากของประเทศไทย ฯลฯ ส่วน เปราะราตรี ดอกสวยงามมีสีขาวบานกลางคืน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เป็นต้น

“ดอกดินเขาหินปูน จากชื่อมีความชัดเจนโดยดอกออกบนดิน แต่ไม่พบเจออยู่บนผืนดินในป่าจะขึ้นอยู่บริเวณยอดเขาหินปูนเท่านั้น โดยขึ้นอยู่ในหลุมหิน ดอกของดอกดินเขาหินปูน จะมีสีขาวหรือสีชมพูค่อนข้างใหญ่ในจำนวนที่พบในธรรมชาติมีค่อนข้างเยอะแต่ในที่นี้ไม่กระจายกว้าง จะมีอยู่เยอะในแหล่งที่เขาอยู่ โดยในที่นี้พบแค่เขาหินปูนจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิเท่านั้น

ส่วนสถานภาพการอนุรักษ์ที่ประเมิน พบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ทั้งนี้รายงานจากสองปัจจัย โดยปัจจัยแรกคือ ขอบเขตที่เจอซึ่งเมื่อวัดความกว้างของพื้นที่พบดอกดินเขาหินปูนมีไม่เกิน 4 ตารางกิโลเมตร และปัจจัยต่อมาคือจำนวนแหล่งที่พบ มีเพียงสองแหล่ง เมื่อนำสองปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณารวมกันจึงทำให้พืชชนิดนี้ มีสถานะการอนุรักษ์เป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ขั้นวิกฤติ โดยที่ไม่เกี่ยวกับจำนวนต้นที่มี”

นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ ดร.ณัฐพล ขยายความเพิ่มอีกว่า แหล่งที่พบมีความสำคัญ ทั้งนี้หากจำนวนแหล่งที่พบมีไม่มากย่อมมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ต่างจากพืชบางชนิดที่มีการกระจายพันธุ์ได้มาก หากเกิดวิกฤติใด ๆ ก็ยังมีโอกาสคงอยู่ อีกทั้งพืชชนิดนี้แหล่งที่พบมีเพียงสองแหล่งและอยู่ใกล้กันมาก

ดอกดินสกุลเปราะรวบรวมนำมาจัดแสดง

การค้นพบดอกดินเขาหินปูนครั้งนี้ยังต่อยอดไปในเรื่องของ แมลง โดยศึกษาแมลงที่มีส่วนร่วมในการกระจายพันธุ์ของเขา อย่างเช่น มด ซึ่งมีส่วนช่วยขยายพันธุ์ผสมพันธุ์ ศึกษาว่ามีอยู่ในที่อื่นด้วยหรือไม่ หรือมีอยู่เฉพาะ ฯลฯ และอีกเรื่องสำคัญสำหรับการค้นเจอสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่และที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการสูญพันธุ์คือทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันดูแลและไม่เพียงเป็นการป้องกันพืชชนิดนี้ไม่ให้สูญไป แต่เพื่อนของเขา สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน ก็ต้องปกป้องด้วย

“การค้นพบใหม่ยังส่งต่อการเรียนรู้ต่อไปอีกหลายมิติ ทำให้เห็นถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันกับเราบนโลก ยิ่งในภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเวลานี้ ทั้งนี้ อพวช. ได้นำงานศึกษาวิจัยด้านธรรมชาตินำมาถ่ายทอด จัดแสดงนิทรรศการ โดยรวบรวมนำดอกดินสกุลเปราะ นำมาจัดแสดง จากที่กล่าวประเทศไทยมีดอกดินสกุลเปราะอยู่ 15 ชนิด ครั้งนี้นำต้นจริงมาจัดแสดง 13 ชนิด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของดอกดินสกุลเปราะ อย่างเช่นชนิดใหม่ที่ค้นพบเช่น ดอกดินเขาหินปูน ดอกดินไข่ปลา เปราะนพรัตน์ ฯลฯ หรือที่มีความหายากระดับโลก นำตัวอย่างมาจัดแสดงให้ชมใกล้ชิด อีกทั้งนำตัวอย่างพืชต้นแบบ พืชที่พบเจอครั้งแรกในธรรมชาตินำมาจัดแสดงให้ชมด้วย โดยแสดงต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน ภายในพิพิธภัณฑ์พระราม ๙

ดอกดินเขาหินปูนในธรรมชาติ

ดร.ณัฐพล ทิ้งท้ายอีกว่า พืชกลุ่มนี้ในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายนจะเป็นช่วงเวลาพักตัว ใบจะเริ่มเหี่ยวลงและต้นสวยที่เคยเห็นจะหายไปเหลืออยู่เพียงส่วนหัวใต้ดิน และหลังจากออกดอกและหมดดอก จะออกใบสวยให้ชมอีกครั้งและเมื่อถึงช่วงตุลาคม พฤศจิกายนก็จะพักตัวหายไป วนอย่างนี้เรื่อยไป ร่วมบอกเล่าธรรมชาติ

ความงาม ความสมบูรณ์ รวมถึงการตระหนักด้านการอนุรักษ์ก่อนสูญไป.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ