เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล และผู้บริหารสำนักงานเขตบางขุนเทียน ผู้แทนกรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เขตบางขุนเทียน พร้อมหาแนวทางแก้ไขการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้มาลงพื้นที่ดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยแพร่มาจากพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ขณะนี้พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ กทม. คือ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน ซึ่งมีเกษตรกรประมาณ 900 ราย ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ มีวังกุ้ง วังปลา การแพร่ระบาดเข้ามาของปลาหมอคางดำซึ่งแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก ทนทานต่อสภาพแวดล้อม กินปลาเล็ก ไข่ปลา เป็นอาหาร ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก และจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่เพียงเฉพาะเกษตรกร และ กทม. ต้องเร่งประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า กทม. ทำงานร่วมกับกรมประมงอย่างใกล้ชิด และต้องหาวิธีเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพราะกิจการเสียหายมาก รายได้ลดลงเป็น 10 เท่า ในการแก้ปัญหา กทม. ต้องฟังกรมประมงเป็นหลักในการให้คำแนะนำในการแก้ไขเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะแพร่ระบาดใน 3 เขตของ กทม. แต่แนวโน้มคงขยายไปไกลกว่านี้ ต้องร่วมมือหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาว กทม. อย่างดีที่สุด หลังจากนี้จะให้มีการเปิดลงทะเบียนเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหาย และได้มอบหมายให้ รองผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กทม. ไปดูระเบียบการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรว่าจะสามารถให้ช่วยส่วนใดได้บ้าง
ด้านนายศรายุทธ์ เมธินาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง กรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้สรุปเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา 6 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์
มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด และมาตรการที่ 6 การติดตาม ประเมินผล ทั้งนี้ รวมถึงนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เช่น การผลิตปลาหมันเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติ เพื่อให้เป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้.