อลังการตระการตาสมความเป็นไทย ในรอบชุดประจำชาติ บนเวที “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2024” ซึ่งปีนี้มาในหัวข้อ “ขั้นกว่าของหัตถ์ศิลป์-ศิลปาชีพ” โดยกองประกวดคาดหวังชุดที่ให้คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมสุนทรียะ ความงามของสตรี และให้ความสำคัญกับการสวมใส่ได้จริง สะท้อนคุณค่าความสำคัญของงานเบื้องหลังให้ปรากฏบนเวทีการประกวด ชุดประจำชาติในการประกวดปีนี้ ไม่จัดอยู่ในประเภท แฟนตาซี คาร์นิวัล พาเหรด

ค่ำคืนนี้ (12 ก.ค.2567) สาวงามผู้เข้าประกวด 40 คน ได้ใช้ไอเดียสร้างสรรค์ร่วมกับทีมจังหวัด เนรมิตเป็นความสวยงามดั่งต้องมนต์ขลัง พร้อมวาดลวดลายของการนำเสนอชุดได้อย่างน่าประทับใจ ภายหลังจบการโชว์ ที่เอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ได้มีการประกาศรางวัลชุดประจำชาติ 10 ชุด ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ดังนี้

“เพชรบุรี MUT 41 จูลี่-มิรินทร์ มาโน วาเลอลี่ ลิพเพอร์ท” นำเสนอชุด “หนังใหญ่เพชรบุรีศิวิไลซ์” ชุดที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “หนังใหญ่” ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี ถูกดัดแปลงให้มีความทันสมัย ผู้สวมใส่นำเสนอความงดงามของหนังใหญ่ และไม่ให้ผู้คนหลงลืมการแสดหนังใหญ่นี้ ผ่านรูปแบบของความสวยงามบนเรือนร่างของสตรี

ด้าน “สมุทรสงคราม  MUT11 ไหมไทย สุริยะยรรยง” มาในชุด “สืบสานงานเบญจรงค์” ถ่ายทอดงานเบญจรงค์ ศิลปะชั้นสูงลงบนเครื่องแต่งกาย โดยบรรจงรังสรรค์ลวดลายผ่านเครื่องประดับเซรามิก ได้แก่ เครื่องสวมบนศีรษะ กรองคอ ต่างหู กำไล และหน้านาง ไปจนถึงชุดที่สวมใส่ ผสานเอกลักษณ์อันงดงามของผ้าไทย ทั้งยังขับเน้นความงามของชุดไทยด้วยพวงมาลัยเซรามิก ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยลูกปัดคริสตัลเพื่อให้เกิดความอ่อนช้อย

ชุด “กินรีรดน้ำ” โดย “มหาสารคาม  MUT 07 บุญญิสา จันทราราชัย” ชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจาก งานประณีตศิลป์ชั้นสูงลายรดน้ำรูปกินรี อมนุษย์ครึ่งบนเป็นครครึ่งล่างเป็นนก ผสมผสานเข้ากับแฟชั่นตามยุคสมัย ถือเป็นการยกระดับงานประณีตศิลป์ชั้นสูงในอีกหนึ่งมิติ

สถาปัตยกรรรม เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของวัดไทย คือ งานหัตถศิลป์ ที่เรียกว่า “งานประดับกระจก” รังสรรค์โดยการตัดกระจกเป็นชิ้นเล็กๆ และใช้เทคนิควิธีในปะติดปะต่อให้เกิดเป็นลวดลาย ด้วยความพิเศษจึงนำมาออกแบบเครื่องแต่งกายโดยใช้รูปแบบของชุดยืนเครื่องนางละครไทย จึงเป็นที่มาของชุด “แวว วับ ประดับไทย” สวมใส่โดย “นนทบุรี  MUT02 ปาณิศา เธียรศิริพิพัฒน์”

“ศีรษะเกษ  MUT 16 อังคณา ศรีสุวรรณ” ชื่อชุด “จักรีศิลป์กลิ่นลำดวน” แรงบันดาลใจจากดอกลำดวนและชุดไทยจักรี ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยงานจักสานภูมิปัญญาหัตถศิลป์ของไทยอันงดงาม สะท้อนวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ผ่านลวดลายที่ประณีตและวัสดุธรรมชาติที่แสดงถึงความอ่อนช้อยของศิลปะแบบไทย

อีกหนึ่งชุดที่เรียกเสียงฮือฮา หนีไม่พ้น ชุด “ศาสตร์ศิลป์” จาก “อุบลราชธานี  MUT 08 กานต์ฤทัย ทัศบุตร” ผู้ออกแบบได้หยิบยกตัวกินรีที่อยู่ในขบวนเทียนพรรษามาเป็นแรงบันดาลใจหลักในการออกแบบ ตัวชุดเป็นเกาะอก ตัดเย็บจากผ้ากาบบัว ผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และได้นำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์มาใช้เป็นชิ้นงานบนเครื่องประดับ ปีกกับหาง มือถือดอกบัว ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์และเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด

“สุพรรณบุรี  MUT 31 อภิสรา ธาดาดลทิพย์” มาในชุด “ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ” ถ่ายทอดเรื่องราวโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการขุดค้นทางโบราณคดีอันทรงคุณค่าที่ถูกฝังใต้ผืนพิภพ และอารยธรรมที่ถูกห่อหุ้มด้วยกาลเวลา ที่รอวันถูกค้นพบและกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง

ชุด “สยามมานุสตรี” โดย “กรุงเทพมหานคร MUT 40 สุชาตา ช่วงศรี” ตามพระราชพงศาวดาร กล่าวถึง ครั้งสมเด็จพระมหาเทวีศรีสุริโยไท ทรงกระทำยุทธหัตถีกลางสมรภูมิอย่างกล้าหาญ ทรงเป็นวีรสตรีที่สละพระชนม์ชีพเพื่อเป็นตัวแทนปกป้องบ้านเมือง นำมาสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบชุด โดยใช้เทคนิคงานหัตถศิลป์ชั้นสูง รวมถึงงานประดับปีกแมลงทับอันวิจิตรบรรจง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและครูช่างครบทุกแขนง

“ภูเก็ต  MUT 17 ซูซานน่า เรโนล” กับชุด “อันดามันมุกตารักษเทวี” แรงบันดาลใจจากงานประดับมุก ความวิจิตรแห่งหัตถศิลป์ไทยชั้นสูง กับการค้นพบหอยมุกภูเก็ต แห่งเกาะดอกไม้ และด้วยทะเลเดือด เทวีผู้รักษาไข่มุกแห่งอันดามันจึงปรากฎกายเพื่อร่วมพิทักษ์ท้องทะเล

ปิดท้ายกันที่ ชุด “รจนารี ศรีคราม” โดย “สกลนคร  MUT 33 นาทาเลีย-มาลินดา พุกทอง” นำเสนอความงดงามผ่านอาภรณ์ของ “นางรจนา” และมาลัยครามเสี่ยงคู่ นางละครแห่งวรรณกรรมสยามประเทศ ที่ชาวโลกจะถูกสะกดตะลึงและประทับใจมิรู้ลืม

ชุดประจำชาติทั้ง 10 ชุดที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม หลังจากนี้จะนำไปจัดแสดงโชว์ ในงาน “เดอะ มอลล์ ไลฟ์สโตร์ วีแมน อินสไปร์ เท็กซ์ไลน์ อิน บลูม” เพื่อให้แฟนด้อมนางงามได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด ในวันที่ 8 ส.ค.นี้