นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่เกิดกระแสในโลกออนไลน์กรณีกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการในโครงการเยียวยาของรัฐ โครงการเราชนะ ตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไขทั้ง ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มวงเงินสิทธิ (1,000 หรือ 2,000 บาท ) จำนวนมาก และร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่ การระงับสิทธิการใช้แอพพลิเคชั่นถุงเงิน ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ รวมทั้งยังจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างใกล้ชิด

“วิงวอนขอให้เห็นใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างต้องยึดตามระเบียบและกฎหมายรองรับ ซึ่งผู้ประกอบการที่สมัครใจร่วมโครงการ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการด้วย หากละเมิดกติกาหรือผิดวัตถุประสงค์ ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็จำเป็นต้องทำตามข้อบังคับ เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประชาชน และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม เนื่องจากเงินทุกบาทที่นำใช้จ่ายมาจากภาษีของคนไทยทุกคน และย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ อย่าได้มีธุรกรรมเสี่ยง เพราะพบว่ามีการผิดเงื่อนไข อาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐอื่น ๆ ในอนาคตด้วย”