การที่เปเซชเคียน คว้าชัยเหนือนายซาอีด จาลิลี อดีตหัวหน้าคณะเจรจานิวเคลียร์ และผู้สมัครรับเลือกตั้งสายอนุรักษนิยมสุดขั้ว ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกลุ่มนักการทูตชาติตะวันตก ถือเป็นการสร้างความโล่งใจให้กับรัฐบาลในยุโรป ซึ่งพยยายามรักษาการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้
กระนั้น เปเซชเคียน ก็ไม่มีทางเป็นบุคคลสำคัญอันดับหนึ่งของอิหร่าน ในด้านนโยบายต่างประเทศ หรือประเด็นเกี่ยวกับนิวเคลียร์ได้ เนื่องจากอำนาจสูงสุดยังคงเป็นของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มาตั้งแต่ปี 2532
ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีขึ้นหลังประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ถึงแก่อสัญกรรม จากโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตก เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา เปเซชเคียน สนับสนุนให้อิหร่านเปิดกว้างต่อชาติตะวันตกมาขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้มี “ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์” กับรัฐบาลวอชิงตัน และรัฐบาลในประเทศยุโรป เพื่อพาอิหร่านออกจากการเป็น “รัฐโดดเดี่ยว”
“เปเซชเคียนแสดงให้เห็นว่า โครงการของเขามีความแตกต่างอย่างมาก จากโครงการของจาลิลี ซึ่งปฏิเสธผลกระทบของความคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ที่มีต่อเศรษฐกิจ” นายตีแยรี โควิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่าน จากสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศส (ไอริส) กล่าว
อนึ่ง ข้อตกลงนิวเคลียร์ ฉบับปี 2558 หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ “แผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์” (เจซีพีโอเอ) ซึ่งอิหร่านลงนามร่วมกับสหรัฐ, จีน, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมกิจกรรมปรมาณูของอิหร่าน แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ
ทว่านับตั้งแต่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงเพียงฝ่ายเดียว เมื่อปี 2561 ตามคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อิหร่านก็ค่อย ๆ เป็นอิสระจากพันธกรณีในข้อตกลง ซึ่งแม้รัฐบาลเตหะรานปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่ต้องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่โครงการนิวเคลียร์ของประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ตามข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) อิหร่านเป็นประเทศที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพียงประเทศเดียว ที่เสริมสมรรถนะยูเรเนียมในระดับสูงถึง 60% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 90% ที่จำเป็นต่อการสร้างระเบิดปรมาณู และยังคงสะสมยูเรเนียมสำรองในปริมาณมาก
ทั้งนี้ นายอาลี วาเอซ กล่าวว่า การฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ ฉบับปี 2558 ไม่ใช่ทางเลือกที่สมจริงอีกต่อไป เนื่องจากข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนไปในระดับพื้นฐานแล้ว ซึ่งหากจาลิลี เป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน แนวทางที่ไม่ยืดหยุ่นและยึดตามอุดมการณ์ของเขา จะทำให้อิหร่านและชาติตะวันตก เผชิญกับความขัดแย้ง
“ในทางกลับกัน เปเซชเคียน มีทีมนักการทูตที่มีประสบการณ์ มันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงทางธุรกรรม ที่ช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤติได้ แม้วิธีแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน อาจยังอยู่ไกลเกินเอื้อมก็ตาม” วาเอซ กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP