เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ศุภมาศ อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของ ทั้ง 2 กระทรวง ร่วมเป็นสักขีพยานและเป็นเกียรติในงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ เนื่องจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงในยุคสมัยของเรา อันได้แก่ คลื่นความร้อนพายุฝนรุนแรง หรือภัยแล้ง และความเสี่ยงที่จะเกิดการกัดเซาะ ดินถล่มหรือน้ำท่วม ที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีฝนตกหนักนั้น ล้วนเป็นตัวอย่างของภัยธรรมชาติ ที่แปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อพืชผลทางการเกษตรและสาธารณูปโภค อันนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
“ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของโลก ภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมียุทธศาสตร์และแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน ซึ่งส่วนหนึ่งจะเชื่อมโยงกับการรับมือกับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รัฐบาลปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยความตระหนักว่า น้ำไม่เพียงแค่หล่อเลี้ยงการดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คน ชุมชน ประเทศ และโลกเข้าด้วยกัน รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อลดผลกระทบรุนแรงของปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ที่มีต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน และสำหรับประชาชนในภาคการเกษตร รัฐบาลเน้นการสร้างรายได้โดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ รวมถึงยกปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม และทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพในปี 2567 นี้” นายอนุทิน กล่าวในช่วงต้น
นายอนุทิน กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมถึงการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน และการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน อีกทั้ง ยังมีการปรับปรุงลำน้ำสายหลักและลำน้ำธรรมชาติ เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตลอดจนการปรับปรุงเขื่อนเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้ดำเนินนโยบาย ตามแนวทางดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
“ในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปตรวจราชการในจังหวัดที่มีปัญหาน้ำหลายแห่งนั้น ก็มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง จึงสั่งการให้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวง และกับแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ เพื่อประเมินแนวโน้มการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำแต่ละพื้นที่ ตลอดจนเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเห็นความสำคัญของการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ ให้กับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ให้มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือแก้จน และช่วยแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม โดยจะร่วมมือกับกระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการน้ำ อาทิ การเตือนภัยภายใต้การพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวางแผนดำเนินการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อตรวจวัดและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ และการพัฒนาระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ ผ่านคลินิกของกระทรวง อว. เพื่อพัฒนากลไกถ่ายทอดและพัฒนาบุคลากร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ บนฐานของข้อมูล ความรู้และความเสี่ยง ที่เชื่อมโยงกับลุ่มน้ำ” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ยิ่งไปกว่านั้นเราได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และแนวพระราชดำริ “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ในนโยบายการจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกร มีความสามารถในการปรับตัว และใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนดำเนินงานเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยเน้นที่การสำรวจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขยายผลใช้ระบบเตือนภัย การเฝ้าระวังปัญหาการแย่งชิงน้ำในพื้นที่รวมถึงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ เรียกได้ว่าทำอย่างเป็นองค์รวมอย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีหน่วยงานส่วนกลางเป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติงาน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีบทบาทสำคัญในการนำนโยบายและนวัตกรรมต่างๆ ไปปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในพื้นที่ เช่น การสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กเพิ่ม การบำรุงรักษาและซ่อมแซมระบบชลประทานเดิมการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรในการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า “ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้สำเร็จ และต้องทำงานเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายด้วยเทคนิค และความรู้ใหม่ ๆ ที่จะได้จากความร่วมมือกับ อว. ซึ่งในวันนี้ เรามาร่วมกันแสดงพลังและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมด้วยการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับประเทศของเรา และขอให้ทุกท่านได้ร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายและแนวทางของเราจนประสบผลสำเร็จ ขอให้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นหมุดหมายของความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในระดับพื้นที่ อันจะยังประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป” นายอนุทิน กล่าวในช่วงท้าย
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สะท้อนผ่านแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำคูคลอง เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้มีแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค นำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน และเมื่อประชาชนมีความสุข ประเทศชาติก็จะมั่นคง
“กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่เป็นปัญหาซ้ำซากอยู่ 3 ปัญหา คือ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งพระองค์ได้ทรงเตือนให้พวกเราได้แก้ปัญหาแบบองค์รวม เนื่องจากเราจะคุ้นชินกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เมื่อน้ำท่วมเราเร่งระบายน้ำ แต่พอน้ำแล้งเราไม่มีน้ำใช้ ดังนั้น จึงต้องหาที่อยู่ให้น้ำ เพื่อเราก็จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ เมื่อน้ำเยอะเรามีที่พักน้ำ และเมื่อน้ำน้อยเรามีน้ำสำรองไว้ใช้ จึงได้พระราชทานแนวทางโครงการในพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำมากมาย อาทิ โครงการแก้มลิง หลุมขนมครก คลองไส้ไก่ เป็นจุดเริ่มต้นของหลักทฤษฎีใหม่ ที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 30:30:30:10 โดยให้ความสำคัญกับ 30 แรก คือพื้นที่ต้องมีแหล่งน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับที่ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้หลักอารยเกษตร และประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการน้ำ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” เป็นองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ได้สะท้อนแนวทางด้านการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ คือ การที่พวกเราต้องรื้อฟื้นการทำให้คนอยู่กับป่าตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กลับมา เริ่มตั้งแต่การกำหนดผังเมืองพื้นที่สีเขียวที่ต้องมีไม้ยืนต้น ทุ่งนาต้องมีหัวคันนาทองคำ เพื่อกักเก็บน้ำ ตลอดจนมีต้นไม้ที่เป็นทั้งร่มเงา ที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร ประกอบด้วย ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือป่า 5 ระดับตามศาสตร์พระราชา ซึ่งไม้ยืนต้นที่รวมกันเป็นป่าจะส่งผลโดยตรงต่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศนำไปสู่การเกิดฝน ซึ่งมีหลักการเดียวกับฝนหลวง ดังนั้น คำว่า “ทฤษฎีใหม่” ไม่ได้มีแค่โคก หนอง นา แต่คือโครงการบริหารจัดการน้ำและดินทั้งหมดที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ.
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้ประชาชนมีความสุขได้ คือ เราต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ดังนั้น การขับเคลื่อนในด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของรัฐบาลผลักดันและดำเนินนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนทุกคน เพื่อให้ทุกคนมีความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนคนไทยมีความสุข ยังผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน