เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดของ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามสดกรณี ถาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การระบาดของปลาหมอคางดำทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้หนักมาก ถือเป็นมหันตภัยร้ายที่สามารถทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจสัตว์น้ำไปปีหนึ่งหลาย 1,000 ล้านบาท วันนี้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำทั่วประเทศ 13 จังหวัด ทุกบ่อของพี่น้องประชาชนก่อนหน้านี้ที่เรียกว่าเจ๊ง หลังจากวันนี้เรียกว่าสิ้นเนื้อประดาตัว เกษตรกรกำลังประกาศขายที่นาที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง แม้ว่าเรื่องปลาหมอคางดำจะเกิดมานานแล้วตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการอนุมัติ และนำเข้ามาในประเทศเมื่อปี 2553 และปี 2555 ที่มีการพบครั้งแรก ต่อมามีการแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ เมื่อปี 2561 มีการประกาศรับซื้อจนทำให้เกิดการระบาดหนักขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจนถึงปัจจุบัน
นายณัฐชา กล่าวว่า ตนขอถามถึงต้นตอในการนำปลาชนิดนี้เข้ามา เข้ามาโดยวิธีการใดบ้าง รวมถึงผู้ที่นำเข้าได้แสดงความรับผิดชอบอย่างไรหลังการระบาด และการแก้ไขปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ในการยุติการระบาดของปลาหมอคางดำใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไร ใช้ไปกับค่าอะไรบ้าง ปลาสายพันธุ์นี้เป็นไวรัส ที่กำลังกัดกินสัตว์น้ำที่พี่น้องประชาชนเลี้ยง กุ้งหอยปูปลารวมกันเป็นล้าน แม้ตนไม่สนับสนุนการรับซื้อ แต่ตนสนับสนุนว่าหากเกษตรกรได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรประกาศว่าวันนี้จะช่วย การหาต้นตอก็หาไป แต่ต้องเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ นี่คือการพยุงสถานการณ์
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส ตอบกระทู้แทน ว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ตน และนายณัฐชา ได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ แนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ เราจะไม่สนับสนุนให้ประชาชนมีการเลี้ยงเพิ่ม ต้องกำจัดอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ตนยืนยันได้ โดยต้นตอปัญหามาจากเมื่อปี 2553 มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ สายพันธุ์เอเลี่ยน ซึ่งก็เป็นระยะเวลา 14 ปีก่อน โดยจากข้อมูลที่ตนได้รับจากกรมประมงว่า มีการนำเข้าปลาชนิดนี้อยู่ที่ 2,000 ตัว จากบริษัทที่ตนเชื่อว่า พี่น้องคนไทยเคยได้ยินชื่อเป็นอย่างดี เราไม่สามารถปฏิเสธได้
นายอรรถกร กล่าวต่อด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการนำเข้า ตนเชื่อว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี ในการนำเข้ามาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้เจ้าตัวปลาสามารถทนน้ำได้ดีกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการเท่าที่ตนศึกษามาก็คงจะเป็นการไขว้สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้มันมีความคงทนยิ่งขึ้น เพื่อให้มันเกิดผลทางเศรษฐกิจ เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ณ เวลานั้นในวันที่มีการนำเข้ามาทุกอย่างนั้นเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย มีการขออนุญาตถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประมงปี 2490 ซึ่งขณะนั้น ระบุไว้แต่เพียงว่า จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในการนำสัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งมันมีเอกสารมติในที่ประชุมระบุเลยว่า อนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยขออนุญาตแล้ว ซึ่งก่อนปี 53 คงจะมีการขอนำเข้าประมาณ 5,000 ตัว แต่นำเข้าจริง 2,000 ตัว ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ คือ ให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ตาย อย่างน้อย 3 ตัว เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้ผู้ขอนำเข้า แจ้งผลการทดลองแก่กรมประมงและควรมีการป้องกันไม่ให้สัตว์ทดลองหลุดรอดไปในธรรมชาติ ในกรณีที่การทดลองได้ผลไม่ดี ผู้ขอนำเข้าไม่ประสงค์จะใช้ปลาต่อไป ขอให้ทำลายและเก็บซากไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ
“จากการตรวจสอบการระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ในช่วงปี 2560 และหลังจากนั้นผมก็เชื่อได้ว่า มันเป็นปัญหาที่ลามมาจนถึงทุกวันนี้ ผมได้ให้กรมประมงตรวจสอบย้อนหลังว่า ผมและกรมประมงยืนยันว่า กรมประมงไม่พบหลักฐานของการนำส่งตัวอย่างของปลาสายพันธุ์นี้เข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือเป็นที่น่าเสียดาย เพราะถ้าเรามีหลักฐานที่เคยเก็บไว้ ณ เวลานั้น การตรวจสอบย้อนกลับก็จะสามารถทำได้ จริงๆ มองตาท่านผมก็รู้ว่าท่านคิดอย่างไร ท่านมองตาผม ท่านก็รู้ว่าผมคิดคล้ายกับท่าน แต่ด้วยเอกสารที่ขณะนี้กรมประมงมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องอ้างอิงไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมไม่สามารถระบุได้ว่า ในปี 60 การส่งมอบตัวอย่างเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อาจจะเกิดขึ้นจริงแล้วไม่ได้มีหลักฐาน หรืออาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ ผมในฐานะที่อยู่ตรงนี้ เบื้องต้นผมก็ต้องเชื่อว่า กรมประมงไปค้นแล้วแต่ไม่มีหลักฐานในการรับตัวอย่างจริงๆ” รมช.เกษตรฯ กล่าว
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนเจ็บแค้นแทนพี่น้องประชาชนที่เขาได้รับความเดือดร้อน ตนมาอยู่ตรงนี้ก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่การที่จะตรวจสอบหาต้นทางเราขาดแค่ตัวหลักฐานที่เป็นปลาตาย หรือว่าปลาอาจจะป่วย ที่ตามกฎหมายหรือเงื่อนไขนำเข้าจะต้องส่ง ณ เวลานั้น แต่วันนี้เราหาต้นตอไม่เจอ มีข่าวว่า มีคนลักลอบนำเข้าก่อนปี 2549 หรือปี 2553 โดยเป็นการลักลอบนำเข้า ที่จะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ตรงนี้เป็นเพียงหลักฐานที่เป็นพยานบุคคล เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมา แต่ว่ามีคนพบเห็น เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า ต้นตอจริงๆ แล้วที่มันเกิดโรคระบาดมาจากไหน แต่ตนก็พยายามหาต้นตอ เพราะถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้จริงๆ คนที่ทำผิดก็ควรจะรับผิดชอบต่อความเสียหายระดับประเทศ
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ตนขออ้างอิงการศึกษาการวิจัยที่ตอกย้ำว่า ระยะห่างทางพันธุศาสตร์ของประชากรปลาหมอคางดำทั้งหมดมีค่าที่ต่ำ แสดงให้เห็นว่าแต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันมากนัก หมายความว่า การแพร่ระบาดน่าจะมาจากแหล่งประชากรเดียวกัน แต่ตนก็ไม่สามารถฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าเราไม่มีหลักฐานที่มันชี้เฉพาะเจาะจงว่า การระบาดมันเกิดมาจากใคร เกิดมาจากบริษัทไหน มันเกิดมาจากที่ใด เราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อได้ แต่โชคดีที่ สส.ณัฐชา มีเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่จะมาค้านกับสิ่งที่ตนรับรู้ รับทราบ มาจากกรมประมง ตนยินดีที่จะเอาเอกสารของ สส.ณัฐชา ไปพิจารณาร่วมกับสิ่งที่กรมประมงมี แล้วเราจะดำเนินการต่อไป เรื่องนี้การที่เราจะไปถึงจุดที่ต้องการได้ เราต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เราจะมาหาทางออกนี้ร่วมกัน
รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของมาตรการของกรมประมงหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกประกาศห้ามเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ เลี้ยงในบ่อ รณรงค์ให้ช่วยกันจับการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ ผมเชื่อว่า กรมประมงทำอย่างเดียวไม่ได้ สส.ทุกท่าน ก็สามารถช่วยแนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่ ร.อ.ธรรมนัส ได้ประกาศว่า ห้ามส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์นี้เพราะว่าปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ที่ทำลายระบบนิเวศไปอย่างย่อยยับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาทำแบบเดิมๆ แต่วันนี้ผมสามารถยืนยันได้ว่า ร่างของแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ จะนำไปประชุมในคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาหมอปลาคางดำในอาทิตย์หน้า ขณะนี้เราจะมี 5 มาตรการ 13 กิจกรรมย่อย หนึ่งในนั้นที่กรมประมงได้เร่งทำอยู่ก็คือ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ ซึ่งเราเชื่อว่า การทำให้โครโมโซมจาก 2n เปลี่ยนเป็น 4n จะทำให้โครโมโซมในปลาชนิดนี้เปลี่ยน จากนั้นเราก็ปล่อยลงแหล่งน้ำ ทะเล พอมันไปผสมพันธุ์กัน นอกจากตัวมันที่จะเป็นหมันแล้ว ก็จะทำให้เพื่อนของมันเป็นหมันตามไปด้วย นี่คือการทำงานของผู้เชี่ยวชาญของกรมประมง และเราคาดว่า ปลาที่จะผ่านการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n จะกระโดดลงน้ำครั้งแรกภายในสิ้นปีนี้” นายอรรถกร กล่าว.