ม้จะเข้าฤดูฝนแล้ว…แต่ “ภัยไฟไหม้“ก็ยังคง “น่าเป็นห่วง” อยู่ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดไฟไหม้ใหญ่บริเวณชุมชนตรอกโพธิ์เยาวราช ซึ่งสถานการณ์ภัยไฟไหม้ปีนี้ดูจะสอดรับกับคำทายทักทางโหรที่ว่า “ปีนี้ภัยไฟดุ!!”… ทั้งนี้ กับภัยไฟไหม้นี่นอกจากประเด็นการระวังป้องกัน ก็ยังมีอีกประเด็นสำคัญ “กรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นแล้ว” นั่นคือ “พื้นฟูผู้ประสบภัย“ซึ่งผู้ประสบภัยไฟไหม้นั้น แม้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต…แต่เพราะพระเพลิงก็อาจ “ต้องเป็นคนไร้บ้านต้องเป็นคนหมดตัว“ซึ่ง…

การที่ ชีวิตเปลี่ยนปัจจุบันทันด่วน“
จำเป็น ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ“
รวมถึง จะต้องดูแลสภาพจิตใจด้วย“

ทั้งนี้ เกี่ยวกับการ “ดูแลจิตใจเหยื่อประสบภัยไฟไหม้” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ กรณีนี้สามารถใช้แนวทางเช่นเดียวกับผู้ประสบภาวะวิกฤติอื่น ๆเช่น เหยื่อภัยพิบัติ เหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้มีคู่มือที่จัด
ทำไว้โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในชื่อ “คู่มือการปฏิบัติงานทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT)” เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาจิตใจเหยื่อ หรือผู้ประสบภัย ซึ่งก็มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ช่วงเวลาตอบสนอง“ โดยที่…

มี 4 ระยะที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด“

กับ 4 ระยะที่ว่านี้ ในคู่มือดังกล่าวระบุไว้ว่า… เป็นช่วงเวลาที่เหยื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ หรือเหตุการณ์วิกฤติที่เหยื่อได้เผชิญมารวมถึงกรณีเป็น “เหยื่อเหตุไฟไหม้”ซึ่งได้มีการชี้ไว้ว่า… ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ เหยื่อต้องการความช่วยเหลือ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ เนื่องจากหลังผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มา เหยื่อย่อมจะมีความเครียด วิตกกังวล หวาดผวา ซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง โดยจะแสดงออกมาผ่าน “ปฏิกิริยาทางร่างกายกับจิตใจ” แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ที่สามารถใช้เป็น “หลักสังเกตสัญญาณเตือน” เพื่อการดูแลอย่างเท่าทัน

เพื่อที่จะ ป้องกันเรื่องร้ายซ้ำซ้อน!!“

ช่วงเวลาตอบสนองต่อเหตุการณ์ของ “เหยื่อภาวะวิกฤติ” ที่ว่ามี4 ระยะที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด” นั้น ในคู่มือโดยกรมสุขภาพจิตแบ่ง 4 ระยะไว้ดังนี้คือ… 1.ระยะเตรียมการ 2.ระยะวิกฤติและฉุกเฉิน 3.ระยะหลังเกิดเหตุการณ์ 4.ระยะฟื้นฟู โดยแต่ละระยะนั้นก็มีแนวทางช่วยเหลือที่ต่างกัน รวมถึงในแต่ละช่วงเวลาก็ยังมีการแยกย่อยลงไปอีก โดยเฉพาะ ระยะที่ 2 ระยะวิกฤติและฉุกเฉิน ที่จะ ยิ่งต้องมีการเฝ้าระวังสภาพจิตใจของเหยื่ออย่างใกล้ชิดซึ่งข้อมูลโดยสังเขปมีดังนี้…

ระยะวิกฤติและฉุกเฉิน ซึ่งเป็นระยะที่ 2 นั้น แบ่งเป็น “ระยะวิกฤติ” หรือ ตั้งแต่เกิดเหตุ ต่อเนื่องไปถึง 72 ชั่วโมง โดยระยะนี้เหยื่อจะตื่นตัวทางสรีระและพฤติกรรม จากการที่ใช้พลังไปมากเพื่อให้รอดชีวิต จากนั้นจะค่อย ๆ เกิดความเครียด หวาดผวา หวาดกลัว ช็อก วิตกกังวล สับสน ซึ่งการช่วยจะมุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เน้นช่วยตามสภาพความเป็นจริง โดยต้องช่วยเหลือในสิ่งที่ตรงตามความต้องการของเหยื่อเป็นหลักซึ่งช่วงนี้ด้านจิตใจ“เป็นระยะสำคัญ“ที่…

“ต้องปฐมพยาบาลด้านจิตใจแก่เหยื่อ“

ขณะที่อีกหนึ่งช่วงเวลาในระยะที่ 2 ช่วงต่อมา คือช่วง “ระยะฉุกเฉิน” หรือ ช่วง 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ต่อเนื่องไปถึง 2 สัปดาห์ โดยในระยะนี้ เหยื่อหรือผู้ประสบภาวะวิกฤติ ทั้งผู้สูญเสียหรือผู้รอดชีวิต จะมองโลกในแง่ดีได้ก็จากการช่วยเหลือที่มีเข้ามามาก และจากการที่ถูกสังคมให้ความสนใจ ก็จะส่งผลทำให้เหยื่อเกิดกำลังใจว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งสำหรับระยะดังกล่าวนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้ดูแลหรือเจ้าหน้าที่เยียวยาสามารถสำรวจหาข้อมูลของสถานการณ์และความต้องการของผู้ประสบภาวะวิกฤติได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้วางแผนให้ความช่วยเหลือเหยื่ออย่างตรงจุด

ส่วน ระยะที่ 3ระยะหลังเกิดเหตุการณ์ และได้รับผลกระทบ เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน นับตั้งแต่เกิดเหตุ โดยเป็นระยะที่ผู้ประสบวิกฤติเริ่มเผชิญความเป็นจริงมากขึ้น พละกำลังเรี่ยวแรงจะค่อย ๆ เริ่มถดถอย อ่อนล้า และเริ่มมีความรู้สึกหงุดหงิด แม้จะมีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่ขณะเดียวกัน เหยื่อจะเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือจริงหรือไม่ เพราะการช่วยเหลือจะเริ่มเข้ามาน้อยลง ด้านจิตใจในระยะนี้ จะเครียด วิตกกังวล ท้อแท้ จะซึมเศร้าเพราะไม่แน่ใจในอนาคต

และเมื่อผ่านระยะ 3 ได้ ก็จะเข้าสู่ ระยะที่ 4 ระยะฟื้นฟู ที่เป็นช่วง หลังเกิดเหตุการณ์ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งระยะนี้ผู้ดูแลหรือเจ้าหน้าที่ก็ควรเน้นส่งเสริม ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟูสุขภาพจิต ควรป้องกันความพิการทางจิตใจ (Early Detection and Early Intervention) ตามสภาพปัญหา เช่น ให้คำปรึกษา ให้ยา ให้การบำบัดจิตใจเพื่อปรับพฤติกรรม สอนทักษะคลายเครียด

ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “4 ช่วงระยะเวลาที่เหยื่อมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุร้าย“ ที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณี “ไฟไหม้“ ที่ก็จะ “ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดช่วยเหลือถูกจุด“ เพื่อ “ลดความเสี่ยง” เพื่อสกัดปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรัง หรือเกิดเจ็บป่วยทางจิต

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องใส่ใจเรื่องนี้
และคนรอบตัวเหยื่อก็ต้องใส่ใจด้วย
“เหยื่อไฟไหม้…ด้านจิตใจก็ต้องช่วย“.