ซึ่งเราก็ไม่รู้..“เนาะ” ว่าใครนำเข้ามาเพื่อทดลองเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่า ไปๆ มาๆ จะเป็นสัตว์ทำลายเศรษฐกิจเสียแล้ว เพราะแย่งอาหารปลาธรรมชาติ แย่งอาหารปลาเลี้ยง กุ้งเลี้ยง แล้วดันโตเร็ว  สำคัญคือ ปลาหมอพวกนี้ไม่รู้จะเอาไปแปรรูปเป็นอะไรให้คุ้มค่า เนื้อก็น้อย เอาไปป่นเป็นอาหารสัตว์เห็นทีจะเร็วกว่ามานั่งเลาะก้างทำปลาแดดเดียว

ซึ่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนหนึ่งบอกมาว่า ไหนๆ ก็จะไล่ล่าปลาหมอคางดำแล้ว ก็ช่วยไล่ล่าปลากดเกราะ หรือปลาซัคเกอร์ หรือปลาเทศบาลด้วยก็ดี เพราะปลาชนิดนี้ก็เป็นเอเลี่ยนสปีชี่ย์ที่ส่งผลกระทบต่อนิเวศไม่น้อย มันกินไข่ปลาอื่น ปลาที่เปราะบางต่อระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป มีผู้ล่ารายใหม่ก็ปรับตัวไม่ได้และสูญพันธุ์ เดี๋ยวนี้ระบบสิ่งแวดล้อมรวนไปหมดจากภาวะโลกร้อนก็หนักอยู่แล้ว ( โลกร้อนขนาดใบไม้ไหม้ได้ ใครผ่านความร้อนนรกแตกเดือนเมษามาก็คงรู้สึก ) อย่าให้มีพวกสายพันธุ์ประหลาดๆ มาทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอีกเลย

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นวาระที่…ก็น่าจะแห่งชาติได้ คือการซื้อขายใบปริญญาบัตร วุฒิปลอม และฝากเนื้อฝากตัวกับผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เอาชื่อไปเบ่งหาผลประโยชน์ ..จากที่มูลนิธิ“คนดีย์”รายหนึ่งโดนแฉไปเรื่องหาวุฒิการศึกษาปลอมให้ได้ หาทางพาเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองให้ได้ อ้างชื่อนักการเมืองโน่นนี่…ธรรมชาติของคนเรา ต้องการการมีอำนาจ แม้ว่าจะเป็นอำนาจจิ๊บๆ จ้อยๆ กะอีแค่ทีมงาน แต่มีไว้อุ่นใจเป็น “บัตรเบ่ง” ก็พยายามหาทางลัด แล้วต่อไปการเมืองจะเต็มไปด้วยเครือข่ายสกปรก เพราะมันต้องมีการจ่าย “ต่างตอบแทน”ให้คนแสวงหาอำนาจมาให้ได้

ในฐานะที่สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่อยู่  ประชาชนส่วนหนึ่งก็คาดหวังแอคชั่นที่แข็งแรงจากเสี่ยนิด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ซึ่งถูกมองว่า เป็นนายกฯ อารมณ์ “นายกฯ รวมศูนย์” คือสั่งการเองได้ทุกเรื่อง ออกมาเทคแอคชั่นให้แข็งแรง เรื่องซื้อวุฒิปลอมของนักการเมืองนี่..บางคนเขามองไปว่า “ที่แอคชั่นมันช้า ส่วนหนึ่งมาจากกติการัฐธรรมนูญประหลาดๆ” พอถามว่าหมายความว่าอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า “เพราะการใช้แคนดิเดตนายกฯ ที่บางครั้งไม่ใช่คนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ทำงานกับพรรคการเมืองมาตลอด รู้ธรรมชาติการเมือง ก็คงไม่เข้าใจปัญหานี้” แต่อีกฝ่ายมองว่า “เพราะเป็นนายกฯ ที่ไม่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองไง ก็ต้องยิ่งเกรงใจพรรคการเมือง เพราะคนจำพวกพยายามใกล้ชิดนักการเมืองด้วยวิธีทางลัดมีเยอะ พอนายกฯ เกรงใจพรรค เกรงใจเสียง สส.ก็ปล่อยผ่านบอกเป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องสองคนยลตามช่องว่า ความคิดของใครจะผิดถูก มันมองคนละมุมกันก็ได้

สิ่งที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ๆ นายวรชัย เหมะ แกนนำคนเสื้อแดง อดีต สส.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรองนายกฯ ออกมาเตือนเสี่ยนิดเรื่องของการทำงาน ในเชิง“ติเพื่อก่อ” ว่า นายกฯ ควรจะนั่งประจำทำเนียบ เพื่อตามงานที่สั่งๆ ไปจากข้าราชการฝ่ายประจำบ้าง ไม่ใช่ลงพื้นที่ตะพึดตะพือ จนมันเหมือนงานอะไรไม่ชัดเจนสักอย่าง ..ตรงนี้ หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขานายกฯ ก็ออกรายการทีวีตอบโต้ทำนองว่า นายวรชัยหรืออดีต สส.เงาะไม่ใกล้ชิดนายกฯ พอ ไม่เข้าใจการทำงาน ก็เลยถูกสวนกลับแบบนิ่มๆ ว่า “แล้วเข้าถึงง่ายนักเหรอ” ( มันก็ชวนให้ย้อนคิดไปถึงการที่นักการเมืองมีทีมงานมากมาย เข้าถึงตัวนายยาก บางทีตัวนายไม่ว่าตัวขี้ข้ากันไว้ก่อน มีทีมเยอะๆ ให้ดูเป็นทีมใหญ่ ซึ่งไม่รู้เอาจริงใช้งานแค่ไหน หรือแค่เดินตามให้มีรูปแล้วเอาไปใช้บอกใครต่อใคร “เราเป็นทีมงานนักการเมืองคนนี้ๆ แล้วหาเรื่องเรียกรับผลประโยชน์ จัดคิวพบหรือเปล่า )

พออดีต สส.เงาะพูดขึ้นมา ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่า นายกฯ เสี่ยนิด เป็นคนที่มีข้อสั่งการมากมาย และขณะเดียวกันก็เดินทางไปต่างประเทศ ต่างจังหวัดหลายรอบ ซึ่งเจ้าตัวก็เหมือนจะภูมิใจกับการเป็นเซลล์แมนโร้ดโชว์ให้ประเทศไทยว่าน่าลงทุน ไปส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ไปตรวจงานราชการ ..แต่ทำให้นึกถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ขึ้นมา ว่า เมื่อดำรงตำแหน่งใหม่ๆ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ได้เดินทางพร่ำเพรื่อมาก เหมือนเป็นนายกฯ ซีอีโอ หรือนายกฯ วันแมนโชว์ก็จริง แต่อดีตนายกฯ แม้วในช่วงแรก ๆก็สั่งงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เสียเป็นส่วนใหญ่ คือดูเหมือนไม่รีบออกต่างจังหวัด จนกว่าอะไรๆ จะดูเรียบร้อย แบ่งงานกับรองนายกฯ ที่ไว้ใจไปแล้ว อย่างเรื่องศูนย์ปราบปรามยาเสพติด และศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ขณะนั้นก็มอบให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ดูแล และได้“มือขวา”ที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันอย่าง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต มาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส.) ช่วยดูอีกแรง

ทีนี้ เราก็มาดูๆ กันหน่อยว่า นายกฯ นิดมีข้อสั่งการอะไรมากมายแต่กลายเป็น “นายกฯยึกยัก” เพราะไม่ชัดสักอย่าง มีเรื่องอะไรบ้าง อันดับแรกที่คิดว่าคนน่าจะโหวตให้ก็คือเรื่องเงินดิจิทัล วอลเลต ซึ่งพิรี้พิไรชักเข้าชักออก ร่ำรี้รำไรแล้วแต่คนจะใช้คำไหนให้มันมีความหมายว่า ไม่เสร็จเรียบร้อยเสียที นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตอนแรกบอกให้ประชาชน 16 ปีขึ้นไปทุกคน ต่อมา เปลี่ยนเป็นกำหนดฐานรายได้ กำหนดฐานเงินฝากก่อน ตัดผู้มีสิทธิ์ได้ออกไปส่วนหนึ่ง จากนั้น ก็มาประชุมกันต่ออีกว่า จะใช้เงินจากไหน ..จนชาวบ้านร้อง อ้าวเห้ย!!ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า คือ นโยบายมันช้า มาตอนนี้ก็ยังติดข้อกฎหมายที่ต้องรอถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกว่า “สามารถผันเงิน ธ.ก.ส.มาใช้ได้หรือไม่ ?” เนื่องจากจะเป็นการใช้เงิน ธ.ก.ส.ผิดวัตถุประสงค์ รัฐบาลไปสร้างหนี้เพิ่มกับ ธ.ก.ส.อีก จนกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงว่า จะทำธนาคารสำหรับเกษตรกรขาดสภาพคล่อง

ต่อมา อนุกรรมการเงินดิจิทัลฯ ก็ต้องประชุมกันอีกว่า “สินค้าอะไรซื้อได้ซื้อไม่ได้” ชักเข้าชักออกกันเรื่องซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ากับมือถือ ทางนายกฯ นิดหวังว่าจะให้เป็นเงินที่ใช้ซื้อสินค้า “ไทยทำไทยใช้เงินไม่รั่วไหล” แต่บางคนเขาก็มองถึงความจำเป็นว่า ถ้าใช้ซื้อมือถือได้ชีวิตเขาจะสะดวกขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้มือถือทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ปรับ ครม.กันไปรอบนึงก็ไม่แล้วเสร็จว่า “ตกลงอนุฯ เอาอย่างไร” ก็รอนายกฯ แถลงอีกทีวันที่ 24 ก.ค. แล้วเห็นว่าจะเข้าบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่อีก คือเห็นสภาพเวลานายกฯ ลงพื้นที่แล้วคนถือป้ายเงินหมื่นทวง..จริงๆ มันมีคำจำกัดความรู้สึกไม่ดีอยู่ ..แต่อย่าใช้ดีกว่า คือมันทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีความหวังดูแย่ ทั้งที่เขาก็อารมณ์แบบทวงสัญญา ( ไม่รู้จะนานแบบเพลง..เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..หรือไม่ )

อย่างไรเขาก็ยืนยัน ยักแย่ยักยัน อะไรก็ได้ว่า แจกไตรมาสสี่แน่ ก็ไม่รู้ว่าไตรมาสสี่นี่เดือนไหน เผลอๆ ก็ทำเป็นรัฐบาลซานตาคลอสไปเลย แจก 25 ธ.ค.ไปใช้ซื้อของคริสต์มาสกันให้สนุก คนไทยนี่ถ้าเทศกาลรื่นเริงของศาสนาอื่นรับกันได้ง่ายอยู่แล้ว เราเป็นชาติที่สนุกไปได้กับทุกเทศกาล

ต่อมาก็เรื่อง “แลนด์บริดจ์กี่โมง” อันนี้ก็เป็นเรื่องที่หลายคนเขาสงสัยว่า มีความชัดเจนอะไรต่อโครงการนี้เมื่อไร ว่า จะต้องเวนคืนพื้นที่แถวไหนบ้าง ค่าความคุ้มทุนในการลงทุนกับโครงการเป็นอย่างไร และจะมีจุดขายอะไรสู้พอร์ตโคลอมโบของศรีลังกา ท่าเรือสิงคโปร์ได้ ดูเหมือนยังไม่มีใครออกมาพูดเรื่องความคุ้มทุนชัดนักจนทำให้คนไทยรู้สึกดีที่มีโครงการนี้ แต่บริษัทขนส่งสินค้าระดับโลกที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาเขาจะเห็นความคุ้มค่าหรือเปล่าที่ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะลากาจริงแต่ต้องขนสินค้าผ่านระนอง ชุมพร ด้วยการขนส่งระบบราง แล้วถ้าเกิดผลการลงทุนไม่ได้กำไรตามที่หวังใครจะต้องรับผิดชอบ ?

สิ่งที่นายกฯ นิดย้ำเสมอคือ “หลายประเทศสนใจลงทุนแลนด์บริดจ์” แต่ทีนี้ก็ไม่ชัดเจน ไม่ออกเป็นข่าวว่า “ประเทศไหนมาแน่” หรือกระทั่งประเทศไหนส่งทีมมาสำรวจเพื่อร่วมลงทุนด้วย เรื่องนี้เขาจะให้เป็นการลงทุนที่เน้นเอกชน อาจเป็นเอกชนต่างชาติก็ได้ แต่ในหมู่คนไทยเองก็ไม่รู้ว่า คำว่าแลนด์บริดจ์จะเลือนหายไปตามกาลเวลาอีกหรือไม่ หรือศึกษากันอยู่ไม่รู้แล้วเหมือนเรื่องคอคอดกระ

อีกเรื่องที่เขาอยากได้ความชัดเจนเร็วๆ คือ “กัญชาผิดกฎหมายกี่โมง” เอาจริงเรื่องนี้ก็ไม่อยากว่าเป็นเรื่องของนายกฯ เสี่ยนิดชัดเจนนัก แต่มันเป็นปัญหาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับพรรคภูมิใจไทย ที่มันก็เคยเล่นการเมืองกันมาก่อนจนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงไม่ผ่านสภาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ แล้วหยิบมายืนยันไม่ทันเพราะกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทางฝ่ายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ก็ออกมาฮึ่มฮั่มจะเอากัญชาเข้าเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ซึ่งต้องผ่านบอร์ด ป.ป.ส. แต่ฝ่ายภูมิใจไทยก็โจมตีว่า ถ้านายสมศักดิ์เห็นว่าควรเป็นยาเสพติด สมัยรัฐบาลประยุทธ์ที่นายสมศักดิ์ เป็นบอร์ดในฐานะ รมว.ยุติธรรมอยู่ด้วยก็ไม่เห็นทักท้วงอะไร

ทางฝ่ายภูมิใจไทยยื่นกึ่งๆ คำขาดว่า “ต้องออกเป็น พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เท่านั้น” ก็นโยบายในการควบคุมอะไรมันอยู่ในนั้นหมด และเวลาจับยาเสพติดก็อย่าเหมากัญชาเป็นตัวร้ายไปด้วยเพราะมันใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็ไม่รู้จะออกลูกอะไร แต่ทางภูมิใจไทยเขามี “ตัวประกัน”หนึ่งคือภาคเอกชน ภาคประชาชนที่ลงทุนกับธุรกิจกัญชาไปแล้ว ถ้าไปจับยัดเข้าบัญชียาเสพติดอีก จะต้องชดเชยให้คนกลุ่มนี้อย่างไร ซึ่งเขาว่าเป็นธุรกิจที่มูลค่ามหาศาลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือ ผู้ปลูก ผู้แปรรูป ไปยันทางฝ่ายเภสัชกร ..ฝั่งคนลงทุนกับกัญชาไปเยอะก็ตุ้มๆ ต่อมๆ เขาเรียกหาความชัดเจน

นโยบายต่อมา คือเรื่องการให้ต่างชาติเช่าที่ 99 ปี และถือครองสิทธิในห้องชุดได้ 75% เรื่องนี้ถ้าเป็นสมัยรัฐบาลประยุทธ์คงถูกด่าขายชาติแบบถอนเรื่องแทบไม่ทัน เพราะมันทำให้คนไทยเข้าถึงทรัพยากรลำบากขึ้น เมื่อมีต่างชาติทุนหนากว่ามาแย่งที่อยู่ ที่ทำกิน ไปถึงการลงทุนของคนไทย แบบ..ยังกะปลาหมอคางดำรุกราน แม้แต่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ลูกหม้อเก่าพรรคไทยรักไทยมาถึงเพื่อไทยยังเตือน ว่า ระวังต่างชาติเข้ามากว้านซื้อ- เช่า อสังหา ดีมานด์พุ่งจากต่างชาติ ราคาอสังหาแพงจนคนไทยเข้าถึงยากโดยเฉพาะเด็กจบใหม่อยากมีคอนโดสักห้อง และคุณหญิงสุดารัตน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า พวกบริษัทอสังหาทั้งหลายจะได้ผลประโยชน์มากหรือไม่ ( แล้วใครในรัฐบาลนี้ทำอสังหาบ้างไปหาเอา กระทั่งทำก่อสร้างก็ได้ )

ปัญหาต่างด้าวเข้ามายึดครองใช้ทรัพยากรไทยแล้วให้คนไทยเป็นนอมินีก็ช้ำอยู่แล้ว จะเพิ่มตรงนี้ไปอีกก็ยิ่งซ้ำเติม พอถามไปมา ก็จบที่ว่าเรื่องนี้ศึกษาอยู่ ซึ่งเอาจริงนายกฯ ควรจะมาตอบกระทู้ฝ่ายค้านเอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ( แถมนายกฯ ถูกครหาได้เพราะเคยมีกิจการเกี่ยวกับอสังหาฯ )  กลายเป็นนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยตอบแบบเหมือนไม่ได้ใจความเท่าไร เอาแค่กำลังศึกษาอยู่

บางทีก็น่าคิดนะว่า โครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลทำช้า ไม่ตัดสินใจเสียที เสียโอกาสจากนักลงทุนเท่าไร.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่