น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเข้าหารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะ ร่วมหารือ ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพฯ
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ตนได้ให้นโยบายตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่งว่า อยากเห็นกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัว อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในกระบวนการออกใบอนุญาตที่เร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น และสิ่งที่เน้นย้ำ คือ เรื่องของนโยบาย Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องจับมือกับ ส.อ.ท. เพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง นโยบายบริหารงาน ส.อ.ท. ในช่วงปี 2567–2569 ว่า ต้องยอมรับว่า จากกติกาใหม่ของโลก ตลอดจนข้อตกลงทางการค้า FTA และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดั้งเดิมมาสู่อุตสาหกรรมใหม่ของ 22 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา
โดยเบื้องต้นเราได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม โดยมี 4 คณะทำงาน ประกอบด้วย
1) คณะทำงานยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต (S-Curve & Industry Transformation) เพื่อสร้างกลไกและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรม สู่ยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับกิจการและประเภทอุตสาหกรรม
2) คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Circular Economy และ Climate Change) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ End of Waste พัฒนาระบบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ผลักดันและขับเคลื่อน Circular Material Hub, Circular Economy Model Sandbox ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change
3) คณะทำงานอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการและมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้กับภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
4) คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรม SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน