การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ความก้าวหน้างานโยธา 66.90% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 47.12% ความก้าวหน้าโดยรวม 60.24% และ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ความก้าวหน้างานโยธา 36.13%
อย่างไรก็ตามในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง รฟม. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม โดยนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำ เข้ามาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) รูปแบบเดิม โดยเริ่มใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้เป็นโครงการแรก ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 พบว่า มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างโครงการฯ ไปแล้วกว่า 148,327.95 ตัน หรือ 26.49% เทียบเท่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 7,713.053 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 811,900 ต้น
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีระยะทางรวมประมาณ 3 กิโลเมตร (กม.) มี 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และ สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการภายในปี 68 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมประมาณ 23.6 กม. มี 17 สถานี ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 71.